ชวน "นับคาร์บ" ลดน้ำหนัก ง่ายๆผ่าน www.nubcarb.com ห่างไกลโรค NCDs

รมว.สธ. ปลื้มคนแห่ "นับคาร์บ" ช่วยลดน้ำหนัก สุขภาพดี ด้าน กรมอนามัย แนะดูแลสุขภาพผ่าน "6 เสาหลัก" ห่างไกลโรค NCDs
วันที่ 12 มีนาคม 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ความก้าวหน้าการดำเนินงาน อสม.ชวนคนไทยนับคาร์บ ตามนโยบาย NCDs ดีได้ด้วยกลไก อสม. โดย อสม.สามารถสอนประชาชนนับคาร์บได้แล้วรวมกว่า 18 ล้านคน ซึ่งเกือบถึงเป้าหมาย 20 ล้านคน ภายในวันที่ 20 มีนาคม 2568 และ 50 ล้านคน ภายในสิ้นปี 2568
โดยจากการขับเคลื่อนโครงการคนไทยห่างไกลโรค NCDs ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็น โรค NCDs ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจากการเก็บข้อมูลด้วยการบันทึกผลการนับคาร์บผ่านแอปพลิเคชั่น สมาร์ท อสม. ก็พบว่า มี อสม. และประชาชน บันทึกการนับคาร์บอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือน พ.ย. 67 - ก.พ. 68 จำนวน 445,791 คน
"คนที่นับคาร์บอย่างต่อเนื่อง เห็นผลอย่างชัดเจนว่า สุขภาพดีขึ้น โดยจาก 445,791 คน มีจำนวนถึง 90,054 คน ที่ลดน้ำหนักลงได้ ซึ่งน้ำหนักที่ลดลงได้เฉลี่ยคนละ 2.89 กิโลกรัม โดยถือว่าเป็นการลดความเสี่ยงจากการเป็นโรค NCDs เพราะผมได้เน้นย้ำมาตลอดว่า คนที่ใกล้ป่วย คือคนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน โดยดูได้จากสูตรคำนวน หากเป็นผู้ชาย ให้นำส่วนสูง ลบด้วย 100 จะเป็นตัวเลขน้ำหนักที่เหมาะสม ส่วนหากเป็นผู้หญิง ให้นำส่วนสูง ลบด้วย 110 ก็จะเป็นน้ำหนักที่เหมาะสม" รมว.สาธารณสุข กล่าว
นายสมศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า ซึ่งหากใครน้ำหนักเกินก็ต้องหันมา นับคาร์บ หรือ คาร์โบไฮเดรต เพื่อคำนวนการทานอาหารที่เหมาะสมกับร่างกาย เพราะหากบริโภคมากเกินไปก็จะไปทำร้ายร่างกายได้ โดยสามารถนับคาร์บได้ง่าย ๆ ผ่าน www.nubcarb.com
จากผลการบันทึกการนับคาร์บ ถือเป็นสิ่งที่น่าชมเชย ที่ อสม. สามารถขับเคลื่อนให้มีการนับคาร์บอย่างต่อเนื่องได้กว่า 4 แสนคนแล้ว และส่งผลให้พี่น้องประชาชนสุขภาพดีขึ้น กว่า 9 หมื่นคนแล้ว โดยหากมีการขับเคลื่อนโครงการอย่างต่อเนื่อง ตนก็เชื่อว่าจะช่วยให้พี่น้องประชาชนสุขภาพดีขึ้นได้อีกจำนวนมาก และเมื่อประชาชนสุขภาพดีก็จะช่วยอีกหลายด้าน ทั้งลดงบประมาณในการรักษา ลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงแก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนได้อีกด้วย ขอให้ อสม. ช่วยขับเคลื่อนโครงการต่ออย่างเต็มที่ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายคนไทยสามารถนับคาร์บเป็น 50 ล้านคนด้วย
เดินหน้าตามนโยบายรัฐบาล 30 บาทรักษาทุกที่ - การลดโรค NCDs
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วันที่ 12 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมอนามัย โดยในปีนี้ กรมอนามัยครบรอบ 73 ปี เดินหน้าตามนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีทางด้านสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยนโยบายเด่นในช่วงนี้ก็คือ โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ และโครงการลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ของกระทรวงสาธารณสุข
ซึ่งจากข้อมูลพบว่า คนไทยป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในแต่ละปีประมาณ 4 แสนคน ในปี 2564 พบว่า
- ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคเบาหวาน มากกว่า 4.8 ล้านคน
- ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง มากกว่า 13 ล้านคน
- ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง มากกว่า 800,000 คน
และข้อมูลของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2565 พบว่า อัตราการเสียชีวิตด้วยโรค NCDs ในประเทศไทยสูงถึงร้อยละ 74 ของการเสียชีวิตทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดูแลสุขภาพโดยใช้หลักเวชศาสตร์วิถีชีวิตผ่าน 6 เสาหลัก
การแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ต้องอาศัยแนวทางการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ที่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและการป้องกันโรค ซึ่งประชาชนสามารถดูแลสุขภาพโดยใช้หลักเวชศาสตร์วิถีชีวิต หรือ Lifestyle Medicine ผ่าน 6 เสาหลัก ได้แก่
1. อาหาร เน้นกินอาหารครบ 5 หมู่ ถูกหลักโภชนาการ ลด หวาน มัน เค็ม ดื่มน้ำสะอาด กินอาหารสดใหม่ ปรุงสุก สะอาด
2. ออกกำลังกาย มีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือโดยเฉลี่ยอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน ที่สำคัญควรอบอุ่นร่างกาย และคลายอุ่นร่างกาย ก่อนและหลังการออกกำลังกาย ประมาณ 5-10 นาที
3. นอนหลับ ควรมีสุขอนามัยการนอนหลับที่ดี และมีระยะเวลาในการนอนที่เหมาะสมในแต่ละวัย ได้แก่
- ทารกแรกเกิด อายุ 0-3 เดือน วันละ 14-17 ชั่วโมง
- เด็กทารก อายุ 4-11 เดือนวันละ 12-16 ชั่วโมง
- เด็กหัดเดิน อายุ 1-2 ปี วันละ 11-14 ชั่วโมง
- เด็กก่อนวัยเรียน อายุ 3-4 ปี วันละ 10-13 ชั่วโมง
- เด็กวัยเรียน อายุ 6-13 ปี วันละ 9-11 ชั่วโมง
- วัยรุ่น อายุ 14-17 ปี วันละ 8-10 ชั่วโมง
- วัยผู้ใหญ่ วันละ 7-9 ชั่วโมง
- สตรีมีครรภ์ วันละ 7-9 ชั่วโมง
4. จัดการความเครียด ในสังคมยุคปัจจุบันเราต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อาจทำให้เกิดสภาวะเครียดและวิตกกังวล ซึ่งต้องมีสติรับมือกับความเครียด และความวิตกกังวลที่อาจเกิดขึ้น ควรหากิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น ฟังดนตรี ออกกำลังกาย เต้น นั่งสมาธิ หรือ โยคะ เป็นต้น
5. การเลิกเหล้าและบุหรี่ การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรังและการเสียชีวิต สำหรับผู้ที่เสพติดบุหรี่และเลิกแอลกอฮอล์อาจต้องใช้ความตั้งใจและวิธีการแก้ปัญหาที่หลากหลาย รวมถึงแรงสนับสนุนจากคนรอบข้างเพื่อตัดขาดจากสารอันตรายเหล่านี้ วิธีที่ดีที่สุดให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาวิธีที่เหมาะสม
6. การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง ส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ของเรา โดยร่วมกิจกรรม เช่น กิจกรรมอาสา พิธีกรรมทางศาสนา กิจกรรมกีฬาและออกกำลังกาย เป็นต้น
และใช้ 4 เสาร่วม ในการดูแลสุขภาพ ได้แก่
1. สุขภาพช่องปาก ประชาชนควรยึดหลักการแปรงฟัน สูตร 222 โดยแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง นาน 2 นาที และปล่อยให้ช่องปากว่าง (สะอาด) 2 ชั่วโมงหลังการแปรงฟัน คือไม่กินอะไรหลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง
2. สุขภาพทางเพศมีพฤติกรรมสุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่เหมาะสม เพื่อป้องกันเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
3. อนามัยสิ่งแวดล้อม ร่วมกันดูแลจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมให้สะอาด ถูกสุขลักษณะและเหมาะสมในพื้นที่ชุมชน หรือสถานที่สาธารณะ ได้แก่ สถานที่ราชการ สถานที่ทำงาน สถานประกอบกิจการ การขนส่งสาธารณะ รวมถึงที่พักอาศัยให้สะอาด ปลอดภัย และเอื้อต่อการมีสุขภาพดี
4. หลักการแพทย์แม่นยำชะลอวัย ผู้สูงอายุควรปรึกษาแพทย์ เพื่อวางแผนส่งเสริมสุขภาพที่ดี ชะลอชรา ชีวายืนยาว หรือ Wellness Plan ซึ่งเป็นแผนเฉพาะรายเพื่อพัฒนาทักษะ กาย ใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ส่งเสริมสุขภาพดี