ปราบขายบัญชีเป็นแพ็กเกจรวมมือถือ-กวาดล้างบุหรี่ไฟฟ้า

ตำรวจไซเบอร์รวบหนุ่มหัวใส ตีมึนโพสต์ขายบัญชีตัวเองเป็นแพ็กเกจรวมมือถือ พร้อมกวาดล้างบุหรี่ไฟฟ้า
กรณีตำรวจไซเบอร์รวบหนุ่มหัวใส ตีมึนโพสต์ขายบัญชีตัวเองเป็นแพ็กเกจรวมมือถือ พร้อมกวาดล้างบุหรี่ไฟฟ้า
พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท., พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผบก.สอท.1 และ พ.ต.อ.ชัยรัตน์ วรุณโณ รอง ผบก.สอท.2 พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าว ตร.ไซเบอร์ รวบหนุ่มหัวใส ตีมึนโพสต์ขายบัญชีตัวเองเป็นแพ็กเกจรวมมือถือ พร้อมกวาดล้างบุหรี่ไฟฟ้า วานนี้
ปฏิบัติการที่ 1 สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการตรวจสอบแอบพลิเคชัน Facebook ชื่อ Anonymous Participant ได้ทำการโพสต์ข้อความว่า “ใครไม่มี บช.ใช้ทักมาได้นะครับ มีกสิกร scb ขายพร้อมเครื่อง”จากนั้นภายใต้คอมเม้นใน Facebook มีบุคคลสนใจ ผู้ที่ใช้ชื่อ Anonymous Participant จึงได้ลงรูป QR Code ของ แอปพลิเคชัน LINE
พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผบก.สอท.1 จึงสั่งการให้ พ.ต.อ.รุ่งเลิศ คันธจันทร์ ผกก.1 บก.สอท.1 มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการติดต่อไปเพื่อขอซื้อบัญชีธนาคาร โดยตกลงในราคาบัญชีละ 3,500 บาท ซึ่งได้ตกลงทำการซื้อขายกันที่ 4 สมุดบัญชีธนาคาร และได้นัดพบกันที่สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อทำการซื้อขายสมุดบัญชีธนาคารดังกล่าว
ต่อมาเวลาประมาณเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.โชคชัย แสงอยู่, พ.ต.ท.ทินกรณ์ ทองเปรม สว.กก.1 บก.สอท.1 จึงได้เดินทางไปสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อพบ นายธนกรฯ เมื่อพบแล้ว นายธนกรฯ ได้ส่งมอบสิ่งของ โทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อ OPPO 1 เครื่อง, สมุดบัญชีธนาคารกสิกรไทย ชื่อบัญชี นายธนกรฯ จำนวน 2 เล่ม และ สมุดบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชี นายธนกรฯ จำนวน 1 เล่ม
เมื่อทำการซื้อขายเสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวเพื่อเข้าจับกุม ในความผิดฐาน “ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด” ตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองกาญจนบุรี เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
ปฏิบัติการที่ 2 ตำรวจไซเบอร์ 2 โดย พล.ต.ต.ศรายุทธ จุณณวัตต์ ผบก.สอท.2 ได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.ปกรณ์กิตติ์ ธนวรินทร์กุล ผกก.3 บก.สอท.2 และเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนติดตามจับกุมการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในสื่อออนไลน์ และพบผู้จำหน่ายจำนวน 3 ราย ในพื้นที่ จ.กรุงเทพมหานคร และ จ.นครปฐม จึงรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออำนาจศาล ให้ศาลอนุมัติหมายค้น และต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายค้น เข้าตรวจค้น 3 จุด ดังนี้
จุดที่ 1 ณ หอพักแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม จับกุมนายชาย อายุ 27 ปี ชาวจังหวัดสุพรรณบุรี
จุดที่ 2 ณ หอพักแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม จับกุมชาย อายุ 25 ปี ชาวจังหวัดกาญจนบุรี
จุดที่ 3 ณ ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร จับกุมชายอายุ 25 ปี ชาวจังหวัดสมุทรปราการ
รวมของกลางที่ทำการตรวจยึดทั้ง 3 จุด ดังนี้
1. บุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 1,389 ชิ้น
2. น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 1,036 ชิ้น
3. เครื่องบุหรี่ไฟฟ้า 16 ชิ้น
4. อุปกรณ์อื่นๆ 6 รายการ (ไอแพด, โน๊ตบุ๊ก, ไอโฟน, โทรศัพท์, กล้องวงจรปิด)
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ในความผิดฐาน “ฝ่าฝืนประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๕๗,ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจําหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายของออกไปจากยานพาหนะ คลังสินค้าทัณฑ์บนโรงพักสินค้า ที่มั่งคง ท่าเรือรับอนุญาต หรือเขตปลอดอากร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานศุลกากร” นำตัวส่งพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย
นอกจากนี้ยังมีผลการปฏิบัติการจับกุมขบวนการคอลเซ็นเตอร์ ได้แก่
1. กก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.1 จับกุมนายภูมิรพี อายุ 25 ปี ผู้ต้องหาโพสต์ขายบัญชีธนาคารไทย/ต่างด้าว/ต่างชาติ ทุกระบบสายขาว ดำ เทา ทางเฟซบุ๊ก เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการล่อซื้อบัญชีม้าจากผู้ต้องหาดังกล่าว จนกระทั่งสามารถออกหมายจับ และจับกุมผู้ต้องหาได้ เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2568
2. กก.1 บก.สอท.4 จับกุมผู้ต้องหาคดีหลอกลุงทุนในหุ้น และผ่านแพลตฟอร์มลงทุนปลอม 3 ราย 5 หมายจับ รวมความเสียหาย กว่า 10 ล้านบาท
3. กก.3 บก.สอท.5 จับกุมนายรณกร อายุ 39 ปี ชาว จ.ชุมพร ผู้ต้องหาในคดีหลอกลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล
เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ยังคงสืบสวนอย่างต่อเนื่อง และการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในการตรวจสอบข้อมูลการโอนเงิน และการใช้เทคโนโลยีในการหลอกลวงที่ถูกใช้ในคดีหลายกรณี ที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก โดยผู้ต้องหาหลายรายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการธุรกรรมการเงินผ่านบัญชีปลอมและการทำธุรกรรมออนไลน์ในลักษณะหลอกลวง ซึ่งมีการทำงานเป็นระบบตั้งแต่ระดับผู้ปฏิบัติการไปจนถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลังที่คอยสั่งการการดำเนินงาน
ตำรวจไซเบอร์ยังคงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเพิ่มความระมัดระวังในการใช้บริการโทรศัพท์และการทำธุรกรรมออนไลน์ พร้อมทั้งแนะนำให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือและไม่หลงเชื่อข้อความหรือข้อเสนอที่ดูไม่น่าเชื่อถือจากแหล่งที่ไม่รู้จัก
ทั้งนี้ ตามนโยบาย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายในการเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน และ “นโยบายรัฐบาลในการจัดการปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติยุค Digital Disruption” แก่ข้าราชการตำรวจระดับผู้บริหารทั่วประเทศ ในโครงการสัมมนาผู้บริหาร ระดับผู้บัญชาการหรือเทียบเท่า และผู้บังคับการหรือเทียบเท่า ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 โดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จตช. ในฐานะ ผอ.ศปอส./ผอ.ศตคม.ตร. ได้ขับเคลื่อนนโยบายผ่าน พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะผู้รับผิดชอบควบคุมสั่งการ บช.สอท. และ พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะ รอง ผอ.ศปอส.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. นำเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดสืบสวนจับกุมผู้ต้องหาที่กระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์และดำเนินคดีให้ถึงที่สุด จนนำมาสู่ปฏิบัติการดังกล่าว