17 จว.ภาคเหนือ ฝุ่น PM2.5 น่าเป็นห่วง เพิ่มการเฝ้าระวัง แก้ไขไฟป่า

ค่าฝุ่น PM2.5 ดีขึ้นในหลายจังหวัด ยกเว้น 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่สถานการณ์ฝุ่นน่าเป็นห่วง ประสานพื้นที่เพิ่มการเฝ้าระวังและแก้ไขไฟป่า ลดจุดความร้อนอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ (17 ก.พ. 68) ณ ห้องกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อติดตามสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยมีผู้บริหาร ปภ. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมฯ เร่งประสาน 3 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง ตาก และกาญจนบุรี เพิ่มการเฝ้าระวังและเร่งแก้ไขไฟป่า ควบคู่กับการลดจุดความร้อนในพื้นที่อย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง พร้อมคุมเข้มมาตรการและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น รวมถึงประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้ประชาชนทราบสถานการณ์และความจำเป็นของการควบคุมการเผา เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง/เลขานุการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) พบว่า สถานการณ์ฝุ่นวันนี้ พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในภาพรวมดีขึ้น โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเมื่อเทียบกับเมื่อวานนี้ สถานการณ์ฝุ่นดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนสถานการณ์ฝุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) แต่ในภาพรวมยังมีแนวโน้มที่ค่อนข้างดี
แต่จะมีพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือที่สถานการณ์ฝุ่นละออง (ฝุ่นภาคเหนือ) ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีพื้นที่ที่มีสถานการณ์ฝุ่นละอองอยู่ในระดับที่มีผลต่อสุขภาพ (สีแดง) ได้แก่ พื้นที่ตำบลนาจักร อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง และตำบลธานี อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ส่วนพื้นที่อื่นที่เหลืออยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม)
สำหรับการพยากรณ์อากาศในภาพรวมของประเทศ พบว่า มวลอากาศเย็นได้แผ่ลงมาถึงภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และลงสู่ทะเลจีนใต้ ทำให้ลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยในระยะนี้เป็นลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้มีแนวโน้มทำให้เกิดฝนตกได้ ซึ่งจากการคาดการณ์ในช่วงวันที่ 17 - 24 กุมภาพันธ์ 2568 คาดว่าจะมีฝนเล็กน้อยถึงปานกลางในภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคใต้ตอนบน รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และหลังจากวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป ฝนจะมีแนวโน้มลดลง
ทั้งนี้ การระบายอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลในระยะนี้มีอัตราการระบายอากาศดี ส่วนภาคเหนืออัตราการระบายอากาศค่อนข้างน้อย จำเป็นที่จะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวันที่ 20 - 25 กุมภาพันธ์ 2568
สำหรับ จุดความร้อน (Hotspot) ข้อมูล ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 พบจุดความร้อน จำนวน 2,312 จุด ซึ่งมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดย 5 จังหวัดที่พบจุดความร้อนสูงสุด ได้แก่
- จังหวัดลำปาง จำนวน 300 จุด
- กาญจนบุรี จำนวน 271 จุด
- ตาก จำนวน 262 จุด
- อุตรดิตถ์ จำนวน 112 จุด
- แพร่ จำนวน 101 จุด
ส่วนใหญ่พบจุดความร้อนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ และเขต ส.ป.ก. นอกจากนี้ ยังได้ตรวจพบการกระจุกตัวของจุดความร้อน ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะด้านตะวันตกของประเทศไทยค่อนข้างสูง
“จากข้อมูลจุดความร้อน พบว่า ในระยะนี้ตรวจพบจุดความร้อนค่อนข้างสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดลำปาง ตาก และกาญจนบุรี ที่ต้องเพิ่มการเฝ้าระวังสถานการณ์ทั้งจุดความร้อนและไฟป่าเป็นพิเศษ เนื่องจากมีการตรวจพบการเผาไหม้ในพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นที่สอดคล้องกับแนวจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จึงขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ตรวจสอบและเร่งแก้ไขสถานการณ์ไฟป่าและดำเนินการลดจำนวนจุดความร้อนอย่างเร่งด่วน และขอให้จังหวัดอื่น ๆ ใช้ข้อมูลจุดความร้อนแต่ละวันในการระบุพื้นที่ที่จะต้องเข้าควบคุมและแก้ไขปัญหาไฟป่าได้อย่างแม่นยำ รวมถึงดำเนินตามมาตรการครอบคลุมทุกด้านเพื่อไม่ให้เกิดการเผาในพื้นที่ ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น รวมถึงสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้ประชาชนทราบสถานการณ์ความจำเป็นของภาครัฐในการควบคุมการเผาอย่างเด็ดขาด ตลอดจนผลกระทบที่มีต่อสุขภาพ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่และลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินการตามมาตรการของภาครัฐ” นายภาสกร อธิบดี ปภ. กล่าว
ด้านนายจำนง สวัสดิ์วงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะประธานการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กล่าวว่า ขอขอบคุณจังหวัดและหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ได้ให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งการประกาศพื้นที่ห้ามเผา การประกาศปิดป่าเพื่อป้องกันการเผาป่า การส่งเจ้าหน้าที่ภาคพื้นเข้าดับไฟป่า การตรวจจับรถควันดำ การตรวจโครงการก่อสร้างเพื่อป้องกันฝุ่นละออง และการจัดห้องปลอดฝุ่นบริการประชาชน ถึงแม้วันนี้สถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑลในภาพรวมจะดีขึ้นแต่ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ สถานการณ์ฝุ่นภาพรวมอยู่ในระดับที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งยังคงต้องติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นอย่างใกล้ชิด
ในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่น 6 ข้อ และข้อสั่งการของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด รวมถึงเตรียมพร้อมสรรพกำลัง เจ้าหน้าที่ และเครื่องจักรกลสาธารณภัย สนับสนุนจังหวัด ที่มีสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 ในการควบคุมสถานการณ์ แก้ไขปัญหา และบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งปัจจุบันกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับกองทัพบก (ทบ.) ได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย KA-32 ไปประจำการ 2 พื้นที่หลัก คือ จุดที่ 1 ประจำการ ณ กองพลทหารราบที่ 7 จำนวน 1 ลำ เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการดับไฟป่าในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ร่วมกับกองทัพภาค 3 และจุดที่ 2 ประจำการ ณ เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 1 ลำ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจควบคุมไฟป่าในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยผลการปฏิบัติการควบคุมไฟป่าของ KA-32 ภาพรวม (ข้อมูล ณ 16 ก.พ. 68) ได้ออกปฏิบัติการขึ้นบินทิ้งน้ำดับไฟป่า รวม 4 จังหวัด 13 เที่ยวบิน รอบทิ้งน้ำ 135 รอบ ปริมาณน้ำรวม 405,000 ลิตร
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะติดตามสถานการณ์และรายงานข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ให้ประชาชนทราบเป็นระยะ ทาง Facebook กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ X @DDPMNews หากประชาชนต้องการแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือ สามารถแจ้งเรื่องได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 หรือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” @1784DDPM ได้ตลอด 24 ชั่วโมง"