สั่งให้เครื่องครัว stainless เป็นสินค้าควบคุม 7 รายการ หวั่นโลหะหนักปนเปื้อน

สั่งให้เครื่องครัว stainless เป็นสินค้าควบคุม 7 รายการ หวั่นโลหะหนักปนเปื้อน

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ตรวจสอบกรณีที่มีการระบุว่า สั่งดำเนินการให้เครื่องครัว stainless เป็นสินค้าควบคุม 7 รายการ หวั่นโลหะหนักปนเปื้อน เป็นข้อมูลจริง

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย Anti-Fake News Center Thailand ระบุว่า ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง สั่งดำเนินการให้เครื่องครัว stainless เป็นสินค้าควบคุม 7 รายการ หวั่นโลหะหนักปนเปื้อน ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง

จากการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้ภาชนะและเครื่องใช้เหล็กกล้าไร้สนิมสำหรับอาหารที่ใช้ในครัวเรือน หรือ “ภาชนะ stainless ” เป็นสินค้าควบคุม ตามที่ สมอ. เสนอแล้ว โดยมีการปรับปรุงแก้ไขสาระสำคัญของมาตรฐานให้มีความปลอดภัยมากขึ้น และจะเร่งประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมภายในปี 2567
 

มาตรฐานนี้ครอบคลุมภาชนะ stainless ที่สัมผัสโดยตรงกับอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 7 รายการ ได้แก่ หม้อ กระทะ ตะหลิว ช้อน ส้อม ถาดหลุมใส่อาหาร และปิ่นโต แต่ไม่ครอบคลุมอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้ควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้ากลุ่มดังกล่าวได้อย่างครบถ้วน เพราะสินค้าเหล่านี้มีการใช้งานแพร่หลายมาก โดยเฉพาะในโรงพยาบาล และโรงเรียน โดยมีข้อกำหนดที่สำคัญ คือ การควบคุมปริมาณโลหะหนัก ได้แก่ โครเมียม นิกเกิล ตะกั่ว แคดเมียม สารหนู และโมลิบดินัม ให้อยู่ในเกณฑ์ที่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพผู้บริโภค หลังจากนี้ สมอ. จะเร่งดำเนินการประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมภายในปี 2567
 

ซึ่งจะมีผลให้ทั้งผู้ทำและนำเข้าทุกราย จะต้องขออนุญาตก่อนทำหรือนำเข้า และจะต้องแสดงเครื่องหมายมาตรฐานที่สินค้าทุกชิ้น หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมาย โดยผู้ทำหรือนำเข้าสินค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษจำคุก ไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจาก สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ (คลิก) หรือ โทร. 02-430-6990

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม