รู้จัก 'แอมโมเนีย' สารเคมีอุตสาหกรรม หากเกิดรั่วไหล อันตรายแค่ไหน

รู้จัก 'แอมโมเนีย' สารเคมีอุตสาหกรรม หากเกิดรั่วไหล อันตรายแค่ไหน

รู้จัก "แอมโมเนีย" สารเคมีที่มีใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท หากเกิดการรั่วไหล จะมีอันตรายต่อสุขภาพแค่ไหน พร้อมแนวทางปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ที่สูดดม หรือสัมผัสแอมโมเนีย ก่อนนำส่งโรงพยาบาล

จากกรณีการรั่วไหลของสารแอมโมเนียอย่างรุนแรง ภายในโรงงานน้ำแข็งราชา ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยจุดเกิดเหตุมีกลุ่มควันสีขาวลอยพวยพุ่งอยู่ในชั้นอากาศ สูงจากพื้นดินประมาณ 3-4 เมตร มีกลิ่นคล้ายสารแอมโมเนีย ซึ่งใช้ในการผลิตน้ำแข็ง ชาวบ้านสูดดม เกิดอาการหายใจไม่ออก ต้องนำส่ง รพ.กว่า 140 คน เจ้าหน้าที่ต้องเร่งอพยพผู้คนให้อยู่ห่างในรัศมีเกือบ 1 กม. ก่อนเข้าควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ในเวลาต่อมา

รู้จัก "สารแอมโมเนีย"

สำหรับ สารแอมโมเนีย เป็นสารเคมีที่ถูกจำแนกความอันตรายไว้เป็นประเภท (Class) 2.3 คือ ก๊าซพิษและกัดกร่อน และยังเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 โดยมีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลายทั้งด้านเกษตรกรรม เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียไนเตรท และอุตสาหกรรม เช่น ก๊าซแอมโมเนียสำหรับทำความเย็นของอุตสาหกรรมห้องเย็น โรงผลิตน้ำแข็ง ซึ่งเป็นโรงงานประเภทหนึ่ง ที่มีความเสี่ยงอันตรายจากเคมีดังกล่าว และก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม โดยหากมีการปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำ จะส่งผลให้ปลาและสัตว์น้ำตาย 
 

ป้องกันอย่างไร หาก ก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล

การรั่วไหลของ แอมโมเนีย ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจากการเลือกใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งาน อุปกรณ์ชำรุด เช่น วาล์วรั่ว เกิดความผิดพลาดระหว่างจัดเก็บหรือขนย้ายสารแอมโมเนีย ประเก็นรั่ว และขาดการบำรุงรักษาอย่างถูกวิธี

วิธีป้องกัน ก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล สำหรับผู้ประกอบการโรงงานต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ใช้อุปกรณ์ที่ได้รับมาตรฐานสากล ดูแลรักษา ซ่อมบำรุงอุปกรณ์อยู่เสมอ ดังนี้

  • สวมอุปกรณ์ป้องกันขณะทำงาน
  • ตรวจภาชนะบรรจุ และท่อส่งก๊าซสม่ำเสมอ
  • เก็บแอมโมเนียในที่ปลอดภัยนอกอาคาร
  • รถบรรทุกสารเคมีต้องมีสัญลักษณ์บอกอันตราย
  • ฝึกซ้อมรับมือเหตุฉุกเฉินปีละ 1 ครั้ง

แอมโมเนียรั่วไหล ต้องทำอย่างไร

หากเกิดการรั่วไหลของแก๊สแอมโมเนียในปริมาณน้อย เริ่มแรกให้แยกผู้คนออกห่างจากบริเวณที่รั่วไหลเป็นระยะทาง 30 เมตร ในเวลากลางวัน และ 100 เมตรในเวลากลางคืน หรือหากมีการรั่วไหลในปริมาณมาก ให้แยกผู้คนออกห่างจากบริเวณรั่วไหลเป็นระยะทาง 150 เมตร ในเวลากลางวัน และ 800 เมตร ในเวลากลางคืน
 

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น จากเหตุก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล

สำหรับแนวทางปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุก่อนถึงโรงพยาบาล ให้เคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุไปยังที่ที่อากาศบริสุทธิ์ ให้คนไข้นอนราบกับพื้น หายใจช้าๆ เปิดตาเท่าที่จำเป็น ใช้ผ้าบางชุบน้ำเปียกปิดปากและจมูกระหว่างขนย้ายออกจากพื้นที่ ให้ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนแอมโมเนียออกทันที แต่ในกรณีเสื้อผ้าที่เย็นแข็งติดผิวหนัง ต้องทำให้อ่อนตัวก่อนถอด ล้างร่างกายด้วยน้ำอุ่นสะอาดอย่างน้อย 15 นาที

  • กรณีที่แอมโมเนียสัมผัสตา ให้ล้างออกด้วยน้ำปริมาณมากๆ โดยเปิดน้ำไหลผ่านตา อย่างน้อย 15 นาที แล้วรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
  • กรณีที่แอมโมเนียสัมผัสผิวหนังให้ล้างออกด้วยน้ำสบู่
  • กรณีหายใจเอาแอมโมเนียเข้าไป ควรรีบเคลื่อนย้ายจากที่เกิดเหตุไปไว้ในที่อากาศถ่ายเท ถ้าผู้ประสบเหตุหายใจอ่อน ให้ใช้ออกซิเจนช่วยหายใจ นาน 2 นาที แต่ไม่เกิน 15 นาที แต่หากหัวใจหยุดเต้นให้ปั๊มหัวใจทันที
  • กรณีกลืนกินแอมโมเนีย ให้บ้วนปากด้วยน้ำมากๆ และดื่มน้ำ 1 แก้ว และทำให้อาเจียนโดยใช้ยาขับเสมหะหรือวิธีการล้วงคอ

อย่างไรก็ตาม ในรายที่หมดสติ ให้รีบนำส่งแพทย์ทันที และหากอยู่ในสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของแอมโมเนีย ให้เตรียมอุปกรณ์และสถานที่ให้พร้อมใช้งานเสมอ

ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

หากแอมโมเนียมีการระบายลงสู่แหล่งน้ำ จะมีผลต่อสัตว์น้ำโดยตรง ทำให้เสียชีวิต ความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของน้ำเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำลดลง วงจรโซ่อาหารในระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องนำเครื่องมือในการติดตามเข้าตรวจสอบการปนเปื้อนของแอมโมเนียในสิ่งแวดล้อมหลังเกิดเหตุ โดยเร็วที่สุด