กรมการแพทย์ แนะนำวิธีป้องกัน-ปฐมพยาบาล กรณี 'แอมโมเนียรั่วไหล'

กรมการแพทย์ แนะนำวิธีป้องกัน-ปฐมพยาบาล กรณี 'แอมโมเนียรั่วไหล'

กรมการแพทย์ แนะนำวิธีป้องกัน-ปฐมพยาบาล กรณี 'แอมโมเนียรั่วไหล' เพื่อความปลอดภัย

จากเหตุการณ์ แอมโมเนียรั่วไหล ในโรงงานผลิตน้ำแข็ง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่สั่งห้ามผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องและประชาชนเข้าใกล้สถานที่เกิดเหตุเป็นระยะระยะทาง 1 กิโลเมตร โดยกรมการแพทย์ให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องแก่ประชาชน เนื่องจาก ก๊าซแอมโมเนีย มีส่งผลต่อร่างกายพบอาการเฉียบพลัน ได้แก่

  • ระบบทางเดินหายใจ คือ มีอาการไอและมีหลอดลมตีบ
  • อาการทางเดินหายใจส่วนบนบวมหรือไหม้ หายใจดังวี๊ด หอบเหนื่อย หรือขาดออกซิเจนได้
  • ดวงตา คือ ส่งผลให้เยื่อบุตาขาวอักเสบ น้ำตาไหล ระคาย เคืองกระจกตา ตาบอดชั่วคราวหรือถาวรได้
  • ผิวหนัง คือ เกิดการระคายเคืองหรือไหม้ได้ 

สำหรับอาการระยะยาว ได้แก่ ผู้ที่สัมผัส (มักพบในกรณีผู้ทำงานในโรงงาน) เป็นระยะเวลานาน อาจมีอาการไอเรื้อรัง เหนื่อยขึ้น เอกซเรย์ปอดผิดปกติหรือตรวจการทำงานปอด ผิดปกติ มีรายงานการเกิดพังพืดในปอด ทั้งนี้ ในส่วนของอุบัติภัยการรั่วไหลมักจะเกิดอาการแบบเฉียบพลันเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ประชาชนควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ด้วยเพื่อความปลอดภัย

ข้อแนะนำในการปฐมพยาบาล แอมโมเนียรั่วไหล

  • รีบนําผู้ประสบเหตุออกจากที่เกิดเหตุไปอยู่บริเวณเหนือลม และมีอากาศถ่ายเท สะดวกโดยเร็วที่สุด
  • ตรวจสอบการหายใจและการเต้นของหัวใจถ้ายังหายใจ ให้คลายเสื้อผ้าให้หลวม ปลดเข็มขัดหรือเสื้อชั้นใน
  • ถ้ามีเหงื่อออก ให้เช็ดตัว ถ้ารู้สึกตัวให้ดื่มนํ้าหรือเครื่องดื่มเย็นๆ ถ้าหายใจขัดควรให้ออกซิเจน แต่ถ้าหยุดหายใจต้องช่วยผายปอดจนกว่าจะหายใจสะดวก ห้ามใช้วิธีผายปอด ด้วยวิธีเปาปาก
  • หากผู้ประสบเหตุหายใจเอาสารแอมโมเนียเข้าไป ให้ใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจชนิด มีที่ครอบให้อากาศแบบวาล์วทางเดียว (One-way valve)
  • หากการสัมผัสทางผิวหนัง ควรถอดเสื้อผ้าและเครื่องประดับออกให้หมด ล้างด้วยนํ้าให้มาก ๆ อย่างน้อย 15 นาที ล้างบริเวณที่สัมผัสถูกสารด้วยนํ้าที่ไหลผ่านจํานวนมากจนแน่ใจว่าออกหมด
  • กรณีการรับสารทางปาก ให้ดื่มนํ้ามาก ๆ ห้ามทําให้อาเจียน ถ้าหมดสติ ควรจัดให้นอนหงายราบเอียงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่งสังเกตการหายใจ และจับชีพจรที่คอ หรือขาหนีบ ถ้าหยุดหายใจต้องทําการปั้มหัวใจเพื่อช่วยชีวิต และรีบนําส่งโรงพยาบาลทันที
  • หากสารเข้าดวงตา ควรตะแคงเอียงหน้าเอาคอนแทคเลนส์ออก (ถ้ามี) แล้วล้างตาด้วยนํ้าสะอาดจํานวนมากจากหัวตามาหางตาจนกว่า จะไม่เคืองตา ห้ามขยี้ตา ควรล้างนํ้าอย่างน้อย 30 นาที แล้วรีบนําส่งโรงพยาบาลทันทีเช่นกัน

กรมควบคุมโรค สั่งการให้กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี ลงพื้นที่ติดตามเร่งค้นหาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แอมโมเนียรั่วไหล และวางแผนเฝ้าระวังสุขภาพ พบประชาชนในละแวกนั้นได้รับผลกระทบจำนวนมาก มีอาการหมดสติ แสบตา แสบจมูก และแน่นหน้าอก โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมสถานการณ์   และอพยพประชาชนให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว

วิธีป้องกันก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล สำหรับพนักงาน

  • สวมอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลในการป้องกันตนเอง
  • หมั่นตรวจสอบบำรุงรักษาถัง/ท่อส่งก๊าซอย่างสม่ำเสมอ 
  • จัดเก็บถังแอมโมเนียในพื้นที่ที่ปลอดภัย 
  • จัดทำแผนและซ้อมแผนการรับมือเหตุฉุกเฉิน กรณีเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหล อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

สำหรับประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่เกิดเหตุ

  • ต้องคอยสังเกตความผิดปกติ หากพบเห็นควันสีขาวจากโรงงาน รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที 
  • หากเกิดเหตุให้รีบอพยพในทิศทางเหนือลม และออกจากพื้นที่เกิดเหตุโดยเร็วที่สุด
  • หากสารเข้าตาหรือโดนผิวหนัง ให้ล้างด้วยน้ำสะอาด และถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนแอมโมเนียออกทันที
  • หากพบผู้หมดสติให้รีบเคลื่อนย้ายไปยังที่ปลอดภัย อากาศถ่ายเทสะดวก และรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที 
  • โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ สังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอมากขึ้น หายใจมีเสียงหวีด และมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที 

พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ ข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 กรมควบคุมโรค