'คมนาคม'มั่นใจปม 'แอชตัน อโศก' จบสวย มีทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่าย

'คมนาคม'มั่นใจปม 'แอชตัน อโศก' จบสวย มีทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่าย

"คมนาคม"มั่นใจ ย้ำ “แอชตัน อโศก” จบสวย มีทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่าย เร่งสางปัญหาให้ถูกต้อง "อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก" น้อมรับคำพิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ขอใช้สิทธิอุทธรณ์ ด้านคมนาคมเผย คณะทำงานแก้ไขปัญหาทางเข้าออกแอชตัน อโศก ประชุมแล้ว สัญญาณที่ดี ไม่ต้องรื้อถอนอาคาร 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้าการแก้ปัญหาทางเข้าออก โครงการแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 ซึ่งปัจจุบันทางกระทรวงคมนาคมรับเป็นเจ้าภาพเข้ามาบริหารจัดการ เนื่องจากได้รับการร้องเรียนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเจ้าของห้องชุด 668 ห้องซึ่งได้รับโอนกรรมสิทธิ์ตั้งแต่ปี 2562 ว่า มีสัญญาณบวกจากการมีแนวทางแก้ปัญหาทางเข้าออกให้สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเวนคืน 
 
โดยแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย ว่า ประเด็นการแก้ไขปัญหาทางเข้าออกโครงการแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 หรือแอชตัน อโศกฯ นั้น ก่อนหน้านี้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กำกับดูแลหน่วยงานระบบรางและถนน ซึ่งรวมถึงกำกับดูแลการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ด้วย 
 
โดยนายสุรพงษ์ ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง "คณะทำงานเพื่อเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบให้กับประชาชน จากกรณีอาคารชุดแอชตัน อโศก" เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 มีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์ รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นหัวหน้าคณะทำงาน ภารกิจเพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการอนุญาตใช้พื้นที่ของ รฟม. และมีอำนาจในการเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งนี้ แนวนโยบายตามที่ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เคยให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2566 มีความชัดเจนว่าคณะทำงานชุดนี้จะมีทางออกที่แฮปปี้เอนดิ้งให้กับทุกฝ่าย ทั้งประชาชน หน่วยงาน รฟม. และผู้ประกอบการ 


 
โดยนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนอยู่อาศัย ทั้งนักลงทุน ผู้ประกอบการ รวมทั้งคำถามว่าทางเข้าออกของแอชตัน อโศกฯ จะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งได้หรือไม่ คำตอบก็คือ แฮปปี้ทั้งผู้บริโภค ผู้อยู่อาศัย ผู้ประกอบการ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะเกี่ยวกับนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากโครงการแอชตัน อโศกฯ มีต่างชาติเป็นทั้งผู้ร่วมทุนคือกลุ่มมิตซุย ฟุโดซัง และมีลูกค้าต่างชาติซื้อห้องชุดในโครงการมากถึง 142 ราย จาก 20 ประเทศทั่วโลก 
 
คมนาคมมีทางออกที่ดี-ไม่ต้องรื้อถอนอาคาร ล่าสุด ในส่วนของคณะทำงานฯ ได้มีการจัดประชุม 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดประชุมเมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา สาระสำคัญเป็นการหยิบยกสภาพปัญหาขึ้นมาทำความเข้าใจในคณะทำงาน จากนั้นมีการประชุมครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมกราคม 2567 โดยข้อมูลเท่าที่เปิดเผยได้ ทางหน่วยงาน รฟม. รับทราบนโยบาย และอยู่ระหว่างดำเนินการให้การขออนุญาตสามารถทำได้ถูกต้องตามกฎหมายเวนคืน โดยไม่ต้องมีการรื้อถอนอาคารแต่อย่างใด 
 
"ในทางปฏิบัติถือว่าแนวทางแก้ไขปัญหาได้คลี่คลายระดับหนึ่งแล้ว  โดยคณะทำงานฯ มีการหารือและติดตามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่เป็นระยะๆ โดยคาดว่าจะมีการประชุมอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายนนี้" แหล่งข่าวกล่าว 

\'คมนาคม\'มั่นใจปม \'แอชตัน อโศก\' จบสวย มีทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่าย
 
ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์พาดหัวข่าว "กทม.ชี้ แอชตัน อโศก ทุบ-รื้อยาก รอกรรมการคุมอาคารเคาะแนวทาง หวัง รฟม.เคลียร์ปมเวนคืน" โดยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงกรณีสำนักงานศาลปกครอง แถลงข่าวให้ กทม.บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในกรณีคอนโดแอชตัน อโศก ในอีก 3 เดือน ว่า ตั้งแต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาออกมาในวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 โดย กทม.ไม่แน่ใจว่าจะต้องส่งหนังสือแจ้งใครตาม มาตรา 41 แห่ง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ที่ประกอบด้วย เจ้าของห้องชุด นิติบุคคลอาคารชุด และบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)  
 
ดังนั้น จึงทำหนังสือหารือไปยังคณะกรรมการควบคุมอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 และทางคณะกรรมการควบคุมอาคารได้ตอบกลับเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ว่า ประเด็นที่หารือเป็นปัญหาการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยให้ กทม.สอบถามไปยังสำนักงานศาลปกครอง ซึ่งสำนักงานศาลปกครองมีการตอบกลับมาว่า กรณีการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องภายหลังคำพิพากษา อยู่นอกเหนือจากคำบังคับของศาล เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ต้องพิจารณาตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 
 
นายวิศณุ กล่าวว่า กทม. จึงส่งหนังสือหารือกับคณะกรรมการควบคุมอาคารอีกครั้ง เมื่อ 27 ธันวาคม 2566 ขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว มีการประชุมอยู่หลายครั้ง เพื่อให้ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แก้ไขปัญหา 
 
“ตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการควบคุมอาคาร คงไม่ช้า ถ้ามีการตอบกลับให้เป็นดุลยพินิจของสำนักการโยธาเป็นผู้ดำเนินการ จะมีการส่งหนังสือแจ้งไปยังอนันดาฯ ซึ่งปฏิบัติได้ง่ายกว่าการส่งหนังสือแจ้งให้เจ้าของห้องชุดทุกห้องได้ทราบ ซึ่งจะมีการแจ้งไปให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล โดยให้ยื่นขอใบอนุญาตการก่อสร้างใหม่ ไม่ได้มีการสั่งให้รื้ออาคาร ทั้งนี้จะต้องให้ทันภายในระยะเวลา 3 เดือนอยู่แล้วการปฏิบัติตามกฎหมายมีหลายแนวทาง ไม่ว่าจะหาทางเข้าออกอื่น ทางบริษัทอนันดาฯ ก็ต้องหาทางมา การรื้อ ทุบ อาคาร ไม่ค่อยเป็นไปได้ แต่ถ้าเชิงกฎหมายจริงๆ ต้องให้ลดความสูงขนาดอาคาร หรือตามที่ รฟม.ดำเนินการให้ที่เวนคืนสมวัตถุประสงค์ก่อน ซึ่งกระทรวงคมนาคมเข้าใจปัญหาเรื่องนี้อยู่” นายวิศณุกล่าว 
 
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 ทางลูกบ้านแอชตัน อโศกฯ บางส่วน ได้ยื่นฟ้องการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จากการได้รับผลกระทบปัญหาทางเข้าออกโครงการ โดยในวันเดียวกัน ทางศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้ รฟม.ปิดกั้นทางเข้าออก และให้โจทก์ รวมถึงเจ้าของร่วมกรรมสิทธิ์ห้องชุดในโครงการแอชตัน อโศก ฯ ใช้เป็นทางสัญจรเข้าออกโครงการแอชตัน อโศกฯ สู่ทางสาธารณะถนนอโศกมนตรี 
 
โดยทาง รฟม. ได้ออกประกาศแจ้งว่า ที่ดินแปลงนี้ (ที่ตั้งถนนทางเข้าออกโครงการแอชตัน อโศกฯ) เป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟม. และ รฟม. ขอสงวนสิทธิ์การใช้ที่ดินเฉพาะเพื่อตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน เพื่อประโยชน์ของผู้โดยสารรถไฟฟ้า หรือผู้มาจอดรถเพื่อใช้บริการรถไฟฟ้าเท่านั้น โดยไม่อนุญาตให้ผู้ใดใช้ประโยชน์เพื่อการอื่นนอกจากนี้ 
 
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการปฏิบัติตามหมายห้ามชั่วคราวของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ฉบับลงวันที่ 21 กันยายน 2566 รฟม.ให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดในอาคารชุดแอชตัน อโศกฯ สามารถใช้ที่ดินเป็นทางสัญจรเข้า-ออก อาคารชุดแอชตันอโศก สู่ทางสาธารณะอโศกมนตรีได้ตามปกติ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น 
 
ขณะที่เมื่อวันที่ 28  มีนาคม 2567 ทางบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ได้เผยแพร่เอกสารชี้แจงเกี่ยวกับโครงการแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 มีรายละเอียดดังนี้ "เอกสารชี้แจงคดีคุ้มครองผู้บริโภค โครงการแอชตัน อโศก" ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ได้มีคำพิพากษาคดีที่เจ้าของห้องชุดโครงการแอชตัน อโศก  7 ราย ยื่นฟ้อง บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด กับพวกรวม 6 คน  โดยพิพากษาให้บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด คืนเงินตามสัญญาจะซื้อจะขายให้โจทก์ทั้ง 7 ราย ส่วนค่าเสียหายอื่นให้ยกทั้งหมด 
 
บริษัทฯ ขอน้อมรับและเคารพในคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ทั้งนี้ บริษัทฯ ขอเรียนว่า คำพิพากษาดังกล่าวเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด และบริษัทฯ จะขอใช้สิทธิในการอุทธรณ์คดีต่อไป 
 
อย่างไรก็ดี ปัญหาเรื่องทางเข้าออกโครงการแอชตัน อโศก อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขของกระทรวงคมนาคม ซึ่งได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง รฟม. ด้วย  
 
บริษัทฯ มีความมั่นใจในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ โดยเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนได้ที่ต้นตอของปัญหาเร็วๆนี้ และมีความเชื่อมั่นว่าปัญหาจะมีทางออกที่เป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน 
 
ในการนี้ บริษัทฯ ยินดีให้ความร่วมมือในการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐอย่างเต็มที่ และขอขอบคุณท่านเจ้าของร่วมที่เข้าใจและร่วมต่อสู้ไปด้วยกัน โดยบริษัทฯ ขอให้คำมั่นว่าจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้ และดำเนินการอย่างเต็มความสามารถ  
 
ทั้งนี้ ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์จะประสานงานไปยังผู้จัดการนิติบุคคล และคณะกรรมการเจ้าของร่วม อาคารชุด โครงการแอชตัน อโศก เพื่อแจ้งความคืบหน้าอันเป็นสาระสำคัญให้ท่านเจ้าของร่วมทุกท่านทราบต่อไป  โดยเอกสารลงวันที่ วันที่ 28  มีนาคม 2567  ในนามบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด