ปภ. ขับเคลื่อนมาตรการฉุกเฉินยกระดับปฏิบัติการ แก้วิกฤตฝุ่น PM 2.5

ปภ. ขับเคลื่อนมาตรการฉุกเฉินยกระดับปฏิบัติการ แก้วิกฤตฝุ่น PM 2.5

ปภ.ขับเคลื่อนมาตรการฉุกเฉินยกระดับการปฏิบัติการ แก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ยึด 2 ระดับ ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาในทุกมิติ

วันนี้ (3 เม.ย. 67) กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดขับเคลื่อนมาตรการฉุกเฉินยกระดับการปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในช่วงสถานการณ์วิกฤต ประจำปี 2567 โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบัญชาการเหตุการณ์ในรูปแบบ Single Command ผ่านกลไกการทำงานตามภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้น มุ่งเน้นการปฏิบัติการเป็น 2 ระดับที่สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยและครอบคลุมทุกมิติของการแก้ไขปัญหา ทั้งการจัดการไฟป่า การจัดการไฟในพื้นที่เกษตร การควบคุมฝุ่นในเขตเมือง การจัดการหมอกควันข้ามแดน และการดูแลประชาชน เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า หลายพื้นที่ เริ่มมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้นจนเกินค่ามาตรฐานและส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางได้ประสานกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดดำเนินการตามมาตรการฉุกเฉินยกระดับการปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในช่วงสถานการณ์วิกฤต ประจำปี 2567 โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบัญชาการเหตุการณ์ในรูปแบบ Single Command ผ่านกลไกการทำงานตามภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ โดยยึดการปฏิบัติการเป็น 2 ระดับ ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาในทุกมิติ ดังนี้ 
 

  • ระดับที่ 1 เมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าตั้งแต่ 75.1 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ติดต่อกัน 3 วัน ให้จังหวัดมุ่งเน้นการจัดการไฟป่า โดยปิดป่าในพื้นที่เสี่ยงในช่วงระยะเวลาใดหนึ่งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ พร้อมจัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวังและปฏิบัติการดับไฟป่า รวมถึงรายงานสถานการณ์กับศูนย์ปฏิบัติการ (War room) ตลอด 24 ชั่วโมง ควบคู่กับการใช้มาตรการทางกฎหมายจับกุมผู้กระทำผิดเงื่อนไขการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าและผู้ลักลอบเผาป่าอย่างเด็ดขาด ในส่วนของการจัดการไฟในพื้นที่การเกษตรนั้น ให้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด และห้ามโรงงานรับซื้ออ้อยที่มีร่องรอยไฟไหม้โดยเด็ดขาด

สำหรับการควบคุมฝุ่นในเขตเมือง ให้ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนประกาศทำงานในรูปแบบ Work From Home ร้อยละ 50 ปรับลดราคาระบบขนส่งสาธารณะและค่าบริการจอดรถในอาคารจอดแล้วจร รวมถึงห้ามนำโดยสารที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลมาใช้บริการประชาชน พร้อมกับขอความร่วมมือโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นลดกำลังการผลิต ในเรื่องหมอกควันข้ามแดน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้สายด่วนแจ้งสถานการณ์จุดความร้อน เพื่อขอความร่วมมือลดจุดความร้อนให้ทันต่อสถานการณ์ และในด้านการดูแลประชาชน ให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ใช้มาตรการ Work From Home ร้อยละ 50 รวมถึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดห้องปลอดฝุ่นและแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นอย่างทั่วถึงและครอบคลุมไปยังกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง 
 

  • ระดับที่ 2 เมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าตั้งแต่ 150 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ติดต่อกัน 5 วัน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรณีฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 พร้อมสั่งปิดป่าในพื้นที่ทั้งหมด ทั้งป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ หากพบการเผาในพื้นที่การเกษตรให้ระงับการช่วยเหลือจากภาครัฐ ประจำปี 2567 ทุกกรณี

รวมถึงให้ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรอิสระ Work From Home 100 % และห้ามรถบรรทุกที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเข้ามาในเขตเมือง กรณีตรวจพบค่าฝุ่นละอองจากปล่องระบายเกิน 1.5 เท่าจากค่ามาตรฐาน ให้ออกคำสั่งหยุดประกอบกิจการชั่วคราวแก่โรงงานที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน สำหรับการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน ให้จัดให้มีการหารือแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยและนายกรัฐมนตรีของประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับการดูแลประชาชนนั้น ให้สถาบันการศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน ประกาศใช้มาตรการ Work From Home 100 %

“ปภ. พร้อมบูรณาการทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ผ่านกลไกการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ และแนวทางปฏิบัติการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมถึงการป้องกันและลดมลพิษด้านฝุ่นละอองที่ต้นทาง เพื่อลดผลกระทบมลพิษด้านฝุ่นละอองให้ได้มากที่สุด” นายไชยวัฒน์ กล่าว