อัปเดต 'ไรเดอร์' เอี่ยว 500 คน ปมแก๊งสร้างแอปดักรับงานเดลิเวอรี่

อัปเดต 'ไรเดอร์' เอี่ยว 500 คน ปมแก๊งสร้างแอปดักรับงานเดลิเวอรี่

เตือนภัย อัปเดตล่าสุด งามไส้ 'ไรเดอร์' เกี่ยวพัน 500 คน เอี่ยวแก๊งสร้างแอปพลิเคชั่นดักรับงานเดลิเวอรี่ ตำรวจไซเบอร์แถลงวันนี้

กลายเป็นประเด็นร้อน กรณีแก๊งสร้างแอปพลิเคชั่นดักรับงานเดลิเวอรี่ ซึ่งยากแก่การตรวจสอบและอาจกลายเป็นแหล่งก่อเหตุอาชญากรรม

ล่าสุด กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ตำรวจไซเบอร์ ได้ทลายแก๊งสร้างแอปดักรับงานเดลิเวอรี่ พบขายให้ไรเดอร์ไปแล้วกว่า 500 ราย เสียหายรวมนับล้านบาท 

จับหนุ่มใหญ่ขบวนการลักลอบติดตั้งระบบดักข้อมูลแอปดัง เอาเปรียบไรเดอร์ พบรายได้หลายแสนต่อเดือน

วันพุธที่ 3 เม.ย.67 เวลา 13.30 น. ณ อาคารสัมมนาและฝึกอบรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตํารวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) นำโดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท., พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3, พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผบก.ตอท. ร่วมกับ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (โรบินฮู้ด) โดย นายภัทรวิน มหัธนสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบริการจัดส่ง พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าว “CYBER SHUTDOWN OPERATION” กรณี “ตำรวจไซเบอร์รวบหนุ่มใหญ่ขบวนการลักลอบติดตั้งระบบดักข้อมูลแอปดัง เอาเปรียบไรเดอร์ พบรายได้หลายแสนต่อเดือน”

สืบเนื่องจากเมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2566 มีตัวแทนจากบริษัทไรเดอร์ส่งอาหารชื่อดัง เดินทางมาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับคนร้ายที่แอบติดตั้งโปรแกรมดักข้อมูลการสั่งอาหารก่อนคำสั่งนั้นจะถึงไรเดอร์ที่ใช้งานแอปฯ ปกติ หากมีไรเดอร์ที่ใช้แอปฯ โกงดังกล่าว อยู่ใกล้เคียง จะไม่สามารถกดรับงานจากในระบบได้ เพราะแอปฯโกง จะดักจับงานจากระบบของไรเดอร์ไปให้กับคนที่ใช้แอปฯ โกงดังกล่าวโดยอัตโนมัติ ไรเดอร์ทั่วไปจะขาดรายได้ ไม่สามารถกดรับงานหรือทำงานตามปกติได้ ทำให้เสียโอกาส เสียรายได้ และทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย มูลค่าหลายล้านบาท

พล.ต.ท.วรวัฒน์  วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงสั่งการให้ พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เร่งสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อกวาดล้างจับกุมขบวนการดังกล่าว ไม่ให้สร้างความเดือดร้อนกับประชาชน

ต่อมา พ.ต.อ.อดิชาต อมรประดิษฐ ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.3 จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนนำโดย พ.ต.ท.ธนัช ธนาบุญประกอบ รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.3, พ.ต.ต.เอกสิทธิ์ พระศรี สว.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.3, ร.ต.อ.สุนทร หงษ์โยธี รอง สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ, ด.ต.วิเชียร ประคองสิน ผบ.หมู่ กก.3 สอท.3 ช่วยราชการ กก.วิเคราะห์ข่าวฯ พร้อมชุดสืบสวนทำการสืบสวน จนทราบว่าผู้เขียนโปรแกรมคือ นายโอภาส (สงวนนามสกุล) โดยมีผู้ว่าจ้างคือ นายธงรบ (สงวนนามสกุล)

และในวันที่ 1 เมษายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนจนทราบว่านายธงรบฯ พักอยู่ที่ บ้านหลังหนึ่ง ในพื้นที่หมู่ที่ 4 ตำบลเทพารักษ์ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ จึงเข้าจับกุมตัวในความผิดฐาน “ผู้จ้างให้กระทำการด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ และเป็นผู้จำหน่ายหรือเผยแพร่ชีตคำสั่งที่จัดทำขึ้น โดยเฉพาะเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือ” นำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

จากการสอบถามนายธงรบฯ ให้การว่า ได้จ้างนายโอภาสฯ เขียนโปรแกรมจำนวนเงิน 30,000 บาท และได้ค่าบริการรายเดือน เดือนละ 60,000 บาท หลังจากนั้น นายธงรบฯ ได้นำโปรแกรมดังกล่าวไปติดตั้งให้กับไรเดอร์ โดยคิดค่าติดตั้งครั้งละ 1,000 บาท และคิดค่าบริการรายเดือนเพิ่มเติม 500-800 บาท/เดือน/คน โดยมีไรเดอร์ได้รับการติดตั้งไปแล้วจำนวนประมาณ 500 คน ทำให้พนักงานไรเดอร์ฯ ที่ลงทะเบียนตามปกติกับทางบริษัทฯ สูญเสียรายได้ และบริษัทฯ ก็ได้รับความเสียหายจำนวนมาก จากแอปพลิเคชั่นดังกล่าวของนายธงรบฯ