เดินหน้าจัดการน้ำฤดูแล้ง ย้ำน้ำอุปโภคบริโภคไม่ขาดแคลน งดทำนาปรัง 2

เดินหน้าจัดการน้ำฤดูแล้ง ย้ำน้ำอุปโภคบริโภคไม่ขาดแคลน งดทำนาปรัง 2

กรมชลประทาน เดินหน้าบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ย้ำน้ำอุปโภคบริโภคไม่ขาดแคลน วอนเกษตรกรงดทำนาปรัง 2

ดร.ธเนศร์  สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา  เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
 

เดินหน้าจัดการน้ำฤดูแล้ง ย้ำน้ำอุปโภคบริโภคไม่ขาดแคลน งดทำนาปรัง 2

สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (1 เม.ย. 67) พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 46,181 ล้าน ลบ.ม. (60% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 22,239 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 12,620 ล้าน ลบ.ม. (51% ของความจุอ่างฯรวมกัน) ปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 5,924 ล้าน ลบ.ม.  ตั้งแต่ 1 พ.ย. 66 จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ทั้งประเทศไปแล้วกว่า 19,883 ล้าน ลบ.ม. (80% ของแผน)  เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 7,224 ล้าน ลบ.ม. (83 % ของแผน) 
 

ด้านสถานการณ์การเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งประเทศมีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 9.05 ล้านไร่ หรือร้อยละ 156 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา มีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 5.68 ล้านไร่ หรือร้อยละ 96 ของแผนฯ และขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรังรอบ 2 ทั้งนี้ เหลือระยะเวลาอีกประมาณ 1 เดือนจะสิ้นสุดฤดูแล้ง ประกอบกับการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาช่วงเดือนเมษายน ประเทศไทยจะมีฝนตกต่ำกว่าค่าปกติ จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ พิจารณาวางแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ให้เพียงพอใช้จนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน รวมไปถึงการสนับสนุนน้ำให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 

ด้านการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝน ขอให้สำนักงานชลประทานทั่วประเทศ ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งาน และเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยงให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันที พร้อมทั้งขอให้ติดตามสถานการณ์ฝนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างต่อเนื่องตามนโยบายของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์