เคลียร์ให้ชัด...กฎหมาย 3 ฉบับ | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

เคลียร์ให้ชัด...กฎหมาย 3 ฉบับ | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

“กฎหมายการแข่งขันทางการค้า” “กฎหมายราคาสินค้าและบริการ” “กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค” เป็นกฎหมาย 3 ฉบับที่หลายคนยังไม่เข้าใจหรือยังสับสนถึงบทบาทและอำนาจหน้าที่ ที่อยู่ภายใต้การบังคับใช้ของ กฎหมายเหล่านี้

กฎหมายการแข่งขันทางการค้า เป็นกฎหมายที่มุ่งเน้นและดูแลผู้ประกอบธุรกิจในทุกระดับเป็นหลัก เป็นกฎหมายที่ใช้กำกับดูแลการกระทำและพฤติกรรมทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบธุรกิจด้วยกัน เพื่อให้เกิดกระบวนการแข่งขันทางธุรกิจที่เป็นธรรม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

กฎหมายราคาสินค้าและบริการ เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อใช้กำกับดูแลราคาสินค้าและบริการ มิให้สูงหรือต่ำเกินสมควร รวมทั้งยังถูกใช้ในการกำกับดูแลการกักตุนสินค้าอีกด้วย

กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการบริโภคสินค้าและบริการ รวมถึงยังช่วยในการแก้ไขเยียวยาและชดเชยความเสียหายให้กับประชาชนผู้ที่อยู่ในสถานะผู้บริโภคในกรณีนั้นๆ 

กล่าวได้ว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลทางการค้าของประเทศไทย ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงเพื่อให้ทันยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง ผ่านพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต่างๆ โดยในปี พ.ศ. 2480 ประเทศไทยมีการตรา พ.ร.บ. ป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2480 ขึ้นมาใช้บังคับ

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2490 ได้มีการยกเลิก พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวและหันมาใช้ พ.ร.บ. ป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2490 แทน โดยมีวัตถุประสงค์ในการกำหนดมาตรการป้องกันการค้ากำไรเกินควร รวมไปถึงการกำหนดราคาสินค้า การห้ามการซื้อการขายสินค้าและการปันส่วนสินค้าตามที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น

แต่ด้วยโครงสร้างตลาดของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ก่อให้เกิดทั้งตลาดผูกขาด (Monopoly) ตลาดกึ่งผูกขาดหรือที่เรียกว่า ตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly) การแก้ปัญหาด้วยการมุ่งเน้นการกำกับราคาสินค้าเป็นหลัก จึงไม่ประสบผลสำเร็จนัก

ส่งผลให้มีการพัฒนาจาก พ.ร.บ. ป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490 เป็น พ.ร.บ. การกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ.2522 เพื่อป้องกันมิให้ผู้ประกอบการสร้างอำนาจผูกขาด เช่น การจำกัดปริมาณสินค้า จนส่งผลให้สินค้าขาดแคลน และที่สุดแล้ว ผู้ประกอบการสามารถผลักดันราคาสินค้าให้สูงขึ้น จนอยู่ในระดับที่ตนปรารถนาได้

จากผลพวงของโลกาภิวัตน์ ส่งผลให้ระดับการค้าระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น เพื่อให้การกำกับดูแลทางการค้าของประเทศเป็นไปอย่างเหมาะสมตามยุคสมัย จึงมีการปรับปรุง พ.ร.บ. การกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ.2522 โดยให้แยกสาระสำคัญของการกำกับดูแลออกเป็น 2 ส่วน คือ

ส่วนที่หนึ่ง เป็นการกำกับดูแลในเรื่องราคาสินค้าและปริมาณสินค้า และส่วนที่สอง เป็นการกำกับเพื่อป้องกันการผูกขาดและก่อให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม และด้วยการกำกับดูแลของทั้ง 2 ส่วนข้างต้น มีสาระสำคัญที่แตกต่างกัน จึงมีการตรา พ.ร.บ. ขึ้นใหม่ 2 ฉบับ ได้แก่

1) พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 โดยมีเจตนารมณ์มุ่งเน้นไปยังการดูแลราคาและปริมาณของสินค้าและบริการเป็นหลัก ถึงแม้ว่ามาตรฐานและคุณภาพของสินค้าและบริการจะมีส่วนสัมพันธ์กับราคาสินค้าโดยตรงก็ตาม หากแต่เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้จะไม่ครอบคลุมไปถึงการกำกับดูแลมาตรฐานและคุณภาพด้วย และ

2) พระราชบัญญัติว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 โดยมีเจตนารมณ์เพื่อเป็นการส่งเสริมให้การประกอบธุรกิจเป็นไปอย่างเสรีและป้องกันมิให้เกิดการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ  

ในส่วนของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ได้รับการปรับปรุงอีกครั้ง เพื่อให้เท่าทัน และสอดคล้องกับรูปแบบและพฤติกรรมการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าให้เกิดความเป็นธรรมอย่างแท้จริง จึงมีการตราพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ขึ้น และมีผลบังคับใช้จวบจนปัจจุบัน

ในส่วนของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ถูกตราขึ้นเนื่องจากภาครัฐเล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีอำนาจในการกำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจการค้า และผู้ประกอบธุรกิจโฆษณา เพื่อให้ความเป็นธรรมตามสมควรแก่ผู้บริโภค

อาจกล่าวได้ว่า คนส่วนใหญ่มักเข้าใจคลาดเคลื่อนในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเข้าใจที่ว่า การแข่งขันทางการค้า การคุ้มครองผู้บริโภค และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับราคาสินค้าและบริการ ล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน

ซึ่งแท้จริงแล้ว จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า กฎหมายทั้ง 3 ฉบับนั้นมีเนื้อหาสาระ รวมถึงอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้นั้นมีความต่างกันอย่างมีนัยยะ

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา หากมีเรื่องร้องเรียนใดเข้ามาที่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าหรือสำนักงาน กขค. และเรียกร้องเรียนนั้นมิได้อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของสำนักงาน เจ้าหน้าที่ของสำนักงานก็จะส่งเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อรับผิดชอบต่อไป และจะแจ้งผลกลับไปยังผู้ร้องเรียนในทุกกรณี.