ASIA-AQ ภารกิจสุดท้ายก่อนปลดประจำการ DC-8 ศึกษา วิจัยปัญหา PM2.5 เชียงใหม่

ASIA-AQ ภารกิจสุดท้ายก่อนปลดประจำการ DC-8 ศึกษา วิจัยปัญหา PM2.5 เชียงใหม่

เครื่องบิน DC-8 ของ NASA บินโฉบบินต่ำเหนือฟ้าเชียงใหม่ เก็บข้อมูลวิจัย และศึกษาปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ภารกิจ ASIA-AQ ส่งท้ายก่อนปลดประจำการ

วันนี้ (18 มี.ค. 67) เวลาประมาณ 10:30 น. เครื่องบิน DC-8 ของ NASA ได้ลดระดับต่ำลงบินโฉบเหนือฟ้าเชียงใหม่ ในรูปแบบ missed approach ภายใต้ภารกิจ ASIA-AQ เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับการวิจัยบรรยากาศ และศึกษาปัญหาฝุ่นละออง PM2.5

หนึ่งในภารกิจสำคัญของโครงการ ASIA-AQ นี้ คือการศึกษาการกระจายตัวของมลพิษตามความสูงต่างๆ ในชั้นบรรยากาศ ที่เรียกว่า vertical profile ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องมือวิเคราะห์ตัวอย่างอากาศระหว่างที่อยู่ระดับความสูงต่าง ๆ โดยตรง (in-situ measurements) นำมาสู่การใช้เครื่องบินที่เต็มไปด้วยเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ที่สามารถดูดอากาศภายนอกเครื่องบินเข้าไปวิเคราะห์หาองค์ประกอบ ขนาดอนุภาค ความหนาแน่น ฯลฯ ได้ และเครื่องบิน DC-8 ของ NASA (N817NA) เป็นหนึ่งในไม่กี่เครื่องที่สามารถวิเคราะห์ชั้นบรรยากาศเชิงลึกในลักษณะนี้ได้

ASIA-AQ ภารกิจสุดท้ายก่อนปลดประจำการ DC-8 ศึกษา วิจัยปัญหา PM2.5 เชียงใหม่

ความท้าทายอย่างหนึ่งของการเก็บตัวอย่าง vertical profile คือจะต้องบินลดระดับ ตั้งแต่ 11,000 ฟุต ไปจนถึงความสูงเพียง 50 ฟุตจากพื้น ซึ่งการลดระดับลงต่ำใกล้พื้นในระดับนี้นั้น จะสามารถทำได้ในบริเวณเหนือท่าอากาศยานเพียงเท่านั้น เครื่องบิน DC-8 จึงใช้การบินในรูปแบบของ missed approach หรือการจำลองการลงจอดลงบนรันเวย์ แต่ลอยอยู่เหนือจากพื้นเพียง 50 ฟุต (ประมาณ 15 เมตร) ก่อนที่จะทำการไต่ระดับขึ้นไปยัง 11,000 ฟุต (ประมาณ 3.3 กม.) อีกครั้ง เพื่อวัดการกระจายตัวของมลพิษในอากาศ

ASIA-AQ ภารกิจสุดท้ายก่อนปลดประจำการ DC-8 ศึกษา วิจัยปัญหา PM2.5 เชียงใหม่

การโฉบบินเหนือท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ในภาพนี้ เป็นการ missed approach เหนือจังหวัดเชียงใหม่ในเที่ยวบินที่สองของภารกิจ DC-8 ในประเทศไทย จากเที่ยวบินที่วางแผนไว้ทั้งสิ้น 5 เที่ยวบินระหว่างวันที่ 16-26 มีนาคม 2567
 

แต่ละเที่ยวบินของเครื่องบิน DC-8 นั้น จะออกบินจากสนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง และทำการ missed approach เหนือสนามบินดอนเมือง สุโขทัย เชียงใหม่ แพร่ พิษณุโลก และกลับมา missed approach ยังสนามบินดอนเมืองและอู่ตะเภา ก่อนจะวนกลับไปยังภาคเหนือซ้ำอีกรอบตามลำดับ รวมระยะเวลาบินทั้งสิ้นประมาณ 8 ชั่วโมง เพื่อเก็บข้อมูลเปรียบเทียบสภาพอากาศทั้งในช่วงเช้าและบ่าย เหนือพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทย

ผู้สนใจสามารถติดตามเส้นทางการบินของ DC-8 ได้จากเว็บไซต์ เช่น flightradar โดยใช้รหัส N817NA และสามารถชมการ missed approach ของเครื่องบินนี้ได้ตามสนามบินที่กล่าวถึงข้างต้น

DC-8 หรือ McDonnell Douglas DC-8 มีอายุเก่าแก่ถึง 55 ปี ถูกดัดแปลงให้ติดตั้งเครื่องมือตรวจสภาพอากาศด้วยกันทั้งสิ้นถึง 23 เครื่องมือ สามารถวิเคราะห์ปริมาณขององค์ประกอบในอากาศได้ไม่ต่ำกว่า 28 โมเลกุล พร้อมทั้งเซ็นเซอร์ที่สามารถวิเคราะห์ขนาด ความหนาแน่น ค่าการสะท้อนแสงของละอองลอยในอากาศ ได้ทุกระดับความสูง จึงเปรียบได้กับห้องทดลองสภาพอากาศบินได้เคลื่อนที่ ที่บินในภารกิจสำรวจสภาพอากาศมาแล้วทั่วโลก โดยภารกิจ ASIA-AQ ในไทยนี้เป็นหนึ่งในภารกิจสุดท้ายก่อนที่จะปลดประจำการไปอย่างถาวร

สำหรับรายละเอียดของภารกิจ ASIA-AQ และความร่วมมือระหว่าง NASA และ NARIT ในการวิเคราะห์ วิจัย ทำความเข้าใจเพื่อเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในระยะยาวนั้น ติดตามรายละเอียดต่อไปได้ทางเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

เรียบเรียง : ดร. มติพล ตั้งมติธรรม - นักวิชาการดาราศาสตร์ สดร.