สทนช. แก้ไขปัญหาภัยแล้ง พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ควบคุมการทำนาปรังรอบ 2

สทนช. แก้ไขปัญหาภัยแล้ง พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ควบคุมการทำนาปรังรอบ 2

สทนช. ติดตามแก้ไขปัญหาพื้นที่ประสบภัยแล้งและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ ย้ำต้องควบคุมพื้นที่เพาะปลูกนาปรังรอบที่ 2 อย่างเคร่งครัด หลังกระทบการจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

วันนี้ (28 ก.พ. 67) นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

นายไพฑูรย์ เปิดเผยผลการประชุมว่า ปัจจุบันกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ประกอบกับสภาวะเอลนีโญที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สภาพอากาศมีลักษณะร้อนและแล้ง แต่จากการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาภัยแล้งในเชิงรุก โดยมีการประเมินและลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค อย่างต่อเนื่อง พร้อมหาแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 

สทนช. แก้ไขปัญหาภัยแล้ง พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ควบคุมการทำนาปรังรอบ 2
 

รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มที่ ส่งผลให้ปัจจุบันมีจำนวนพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งไม่มากนัก โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ในพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอ ได้แก่ พื้นที่ อ.เลาขวัญ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ได้รับผลกระทบจากการเพาะปลูกมันสำปะหลัง พื้นที่ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ได้รับผลกระทบจากการเพาะปลูกนาปีต่อเนื่อง และ พื้นที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ประสบการขาดแคลนน้ำจืดจากน้ำทะเลหนุนสูง โดยปัจจุบันสถานการณ์ในพื้นที่ อ.กระทุ่มแบน ได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ทั้งนี้ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการติดตามให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ที่ยังประสบปัญหาอย่างใกล้ชิดจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ติดตามสถานการณ์น้ำของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สาขาที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบในช่วงฤดูแล้งนี้ จำนวน 18 สาขา 14 จังหวัด โดยมอบหมายให้มีการบูรณาการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และ กปภ. ในการเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ อาทิ การบริหารจัดการน้ำดิบโดยดึงปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงมาช่วยเหลือให้เกิดความสมดุล เป็นต้น 
 

สำหรับพื้นที่เสี่ยงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่อื่น ๆ เช่น เกาะสีชัง จ.ชลบุรี ปัจจุบันจังหวัดได้มีการประกาศซื้อน้ำจากเอกชนเพื่อบรรเทาปัญหาในบางพื้นที่ของเกาะ ควบคู่ไปกับการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร ฯลฯ รวมถึงการเร่งดำเนินการวางท่อส่งน้ำประปาเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนด้วย ในส่วนของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.เพชรบุรี ที่มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างน้อย และมีการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ทุเรียน พื้นที่เพาะปลูกดังกล่าวอยู่บริเวณต้นน้ำ อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำซึ่งใช้สำหรับการผลิตประปา สทนช. จึงได้ประสานไปยังจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงและมอบหมายกรมส่งเสริมการเกษตรให้มีการทำความเข้าใจร่วมกับเกษตรกรในการปรับลดการใช้น้ำให้เหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาการแย่งใช้น้ำในอนาคต

นายไพฑูรย์ กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาการเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 ที่เกษตรกรในบางพื้นที่ยังคงเดินหน้าเพาะปลูกแม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการรณรงค์งดเพาะปลูกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำบางแห่งมีการจัดสรรน้ำเกินกว่าแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะอ่างฯ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล สทนช. จึงได้บูรณาการร่วมกับกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรมส่งเสริมการเกษตร ในการควบคุมพื้นที่เพาะปลูกอย่างเคร่งครัด และปรับลดการระบายน้ำให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงจะมีการนำน้ำจากลุ่มน้ำอื่น ๆ ที่มีปริมาณน้ำมากเข้ามาช่วยลดการใช้น้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น ให้ระบายน้ำจากเขื่อนวชิราลงกรณและเขื่อนศรีนครินทร์ ในลุ่มน้ำแม่กลองไปสนับสนุนการใช้น้ำในลุ่มน้ำท่าจีน ซึ่งจะช่วยลดภาระการในเร่งระบายน้ำในช่วงฤดูฝนและลดโอกาสการเกิดน้ำล้นได้อีกด้วย สำหรับสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำหลักทั้ง 4 สาย ปัจจุบันสามารถควบคุมความเค็มให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่จะยังคงมีการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด