GISTDA ชี้ จุดความร้อนของไทย พุ่งแซงเพื่อนบ้าน เช็ก 9 จว.เสี่ยงสูงเกิดไฟป่า

GISTDA ชี้ จุดความร้อนของไทย พุ่งแซงเพื่อนบ้าน เช็ก 9 จว.เสี่ยงสูงเกิดไฟป่า

GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียม พบจุดความร้อนของไทยพุ่งแซงเพื่อนบ้าน มากสุดในป่าอนุรักษ์ คาดการณ์ ช่วงวันที่ 5-11 ก.พ.67 มีพื้นที่ 9 จังหวัดเสี่ยงสูงเกิดไฟป่า

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) GISTDA เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ไทยพบจุดความร้อนทั้งประเทศจำนวน 1,320 จุด ส่วนใหญ่พบในป่าอนุรักษ์ 410 จุด ตามด้วย ป่าสงวนแห่งชาติ 341 จุด พื้นที่เกษตร 241 จุด แหล่งชุมชนและอื่นๆ 162 จุด พื้นที่เขต สปก. 157 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 9 จุด โดยจังหวัดที่พบจำนวนจุดความร้อนสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี 338 จุด 
 

ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าพบจุดความร้อนทั้งสิ้น 1,059 จุด  ตามด้วย ลาว 407 จุด กัมพูชา 351 จุด และเวียดนาม 215 จุด

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ท่านสามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรง GISTDA ยังคงติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่

สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://fire.gistda.or.th และควรติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ผ่านแอปพลิเคชัน "เช็คฝุ่น"

GISTDA ชี้ จุดความร้อนของไทย พุ่งแซงเพื่อนบ้าน เช็ก 9 จว.เสี่ยงสูงเกิดไฟป่า

ขณะที่ สถานการณ์ไฟป่า โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณ 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งจากการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ด้วยแบบจำลองระบบสารสนเทศ ระหว่างวันที่ 5 – 11 กุมภาพันธ์ 2567 พบว่ามี 9 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดไฟป่า ได้แก่

  1. ตาก
  2. ลำปาง
  3. เพชรบูรณ์
  4. เชียงใหม่
  5. นครสวรรค์
  6. แม่ฮ่องสอน
  7. อุตรดิตถ์
  8. พิษณุโลก
  9. น่าน

โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตร พื้นที่เขต สปก. ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ สาเหตุอาจเกิดจากการจุดไฟเผาเพื่อหาของป่า หรือการเผาก่อนเตรียมการเพาะปลูก หรือการเผาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น

โดยข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปวางแผนเพื่อการจัดการเชื้อไฟ และจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ GISTDA ยังติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่ ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://fire.gistda.or.th

หมายเหตุ การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่า เป็นการประเมินด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์วิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลจุดความร้อนสะสม (ทั้งข้อมูล VIIRS และ MODIS) ข้อมูลพื้นที่เผาไหม้ย้อนหลัง ประเภทการใช้ที่ดิน และข้อมูลสภาพอากาศล่วงหน้า (อุณหภูมิ และความชื้น) ของแต่ละช่วงเวลา