ศึกษากฎหมายหุ้นส่วนบริษัทจากคำพิพากษาศาลฎีกา (ตอน 3)

ศึกษากฎหมายหุ้นส่วนบริษัทจากคำพิพากษาศาลฎีกา (ตอน 3)

มาตรา 1016 การจดทะเบียนนั้น ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ ทำกิจการอยู่ ณ ตำบลในพระราชอาณาจักร ท่านให้จดทะเบียน ณ หอทะเบียน สำหรับตำบลนั้น

การแก้ไขข้อความที่ได้จดทะเบียนประการหนึ่งประการใดในภายหลังก็ดี กับทั้งแก้ไขอย่างอื่นอย่างหนึ่งอย่างใดกับบทบัญญัติแผนกนี้บังคับ หรืออนุญาตให้จดทะเบียนก็ดีก็ต้องจดทะเบียน ณ หอทะเบียนแห่งเดียวกันนั้น

    นายยิ้ว แซ่ฉิน โจทก์ นายเมือง บุญชะโต กับพวก จำเลย

ฟ้องว่า บริษัทจำกัดทำละเมิด ภายหลังปรากฏว่าบริษัทยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล โจทก์ก็ขอให้ศาลเรียกผู้เริ่มก่อการเข้ามาเป็นจำเลยรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัวตาม มาตรา 1113 ได้

จดทะเบียนเป็นผู้เริ่มก่อการและเป็นผู้ถือหุ้นตามหนังสือบริคณห์สนธิแล้ว หากจะเปลี่ยนแปลงก็ต้องจดทะเบียน ณ หอทะเบียนแห่งเดียวกันนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1016 วรรคสอง

หมายเหตุ ท้ายมาตรา1016

ในปี 2565 ได้มีการปรับปรุงแก้ไข มาตรา 1016 เพื่อให้มีความยืดหยุ่นเกี่ยวกับสถานที่จดทะเบียนให้มากขึ้น

เป็น “มาตรา 1016  การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท การแก้ไขข้อความที่ได้จดทะเบียนไว้ในภายหลัง และการจดทะเบียนอย่างอื่นตามลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัทที่กําหนดให้จดทะเบียน ให้จดทะเบียน ณ สํานักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทที่สํานักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ หรือตามที่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงประกาศกําหนด"

  - มาตรา 1019 ถ้าคำขอจดทะเบียนหรือเอกสาร ซึ่งต้องจดทะเบียนไม่มีรายการบริบูรณ์ตามที่บังคับไว้ในลักษณะนี้ว่าให้จดแจ้งก็ดี หรือถ้ารายการอันใดซึ่งจะแจ้งในคำขอหรือในเอกสารนั้นขัดกับกฎหมายก็ดี หรือถ้าเอกสารใดซึ่งกำหนดไว้ว่าให้ส่งด้วยกันกับคำขอจดทะเบียนยังขาดอยู่มิได้ส่งให้ครบก็ดี หรือถ้าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้ออื่นซึ่งกฎหมายบังคับไว้ก็ดี 

นายทะเบียนจะไม่ยอมรับจดทะเบียนก็ได้ จนกว่าจะได้ทำให้บริบูรณ์หรือแก้ไขให้ถูกต้อง หรือได้ส่งเอกสารซึ่งกำหนดไว้นั้นครบทุกสิ่งอันหรือได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อนั้นแล้ว

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2383/2526 

นายณรงค์ วิทยไพศาล กับพวก โจทก์ กรมทะเบียนการค้า จำเลย

การที่โจทก์ประสงค์จะจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบกิจการซื้อขายสินค้าล่วงหน้าและการเล่นแชร์ เป็นสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ การจำกัดสิทธิเช่นว่านี้จะกระทำได้ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง

ฉะนั้น เมื่อโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โดยมีวัตถุประสงค์ที่ไม่ต้องห้ามหรือต้องควบคุมตามกฎหมาย จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องพิจารณาว่าคำขอของโจทก์ครบถ้วนถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1019 บัญญัติไว้หรือไม่เท่านั้น 

จำเลยจะสั่งให้รอการรับจดทะเบียนไว้ก่อนตามมติของคณะรัฐมนตรี เพื่อที่จะแก้ไขกฎหมายให้ควบคุมถึงการประกอบอาชีพของโจทก์ดังกล่าวหาได้ไม่

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 542/2546 

โซนี่ คาบูซิกิ ไกซา โจทก์ บริษัทโซนี่ อิมเป็กซ์ จำกัด กับพวก จำเลย

ชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนเป็นชื่อบริษัท เพราะอาจก่อให้เกิดการสำคัญผิดเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลักษณะ วัตถุที่ประสงค์ ฐานะของกิจการหรือโดยประการอื่นตามระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง ว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ.2535 ข้อ 21(5) จำเลยที่ 9 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการรับจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท จึงชอบที่จะปฏิเสธการรับจดทะเบียนชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ด้วยเหตุผลดังกล่าวแต่เมื่อรับจดทะเบียนไว้แล้ว ก็ต้องเพิกถอนชื่อออกจากทะเบียนนั้นเสีย

ปัญหาเขตอำนาจศาลคดีที่มีการฟ้องเกี่ยวกับการจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 9/2549

ข้อเท็จจริงโดยสรุป นายประยูร อัครบวร ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ 1 อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ 2 นายทะเบียน ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง สำนักงานทะเบียนธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ 3 ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง โดยขณะเกิดเหตุผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ถือหุ้นและมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทส่งเสริมการค้าเอสเอ็มอี จำกัด

 ต่อมาบริษัทส่งเสริมการค้าเอสเอ็มอี จำกัด ยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการและอำนาจกรรมการของบริษัท ตามมติของที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากการเป็นกรรมการบริษัท นายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้

ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ยกอุทธรณ์

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการรับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการ และการวินิจฉัยอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ที่รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการตามคำร้องขอของบริษัทฯ ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ยืนยันความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1 ล้านบาท จากกรณีผู้ฟ้องคดีถูกเลิกจ้างอันเนื่องมาจากคำสั่งรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการ

ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัทฯ หรือไม่ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

เรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล เพื่อวินิจฉัยชี้ขาด

  ผลการินิจฉัย

คดีนี้ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า การประชุมและมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ บริษัทฯ เป็นนิติบุคคล ประกอบกิจการค้าเพื่อแสวงหากำไรและเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก การก่อตั้ง การดำเนินกิจการฯ ต้องเป็นไปตามขั้นตอนและจดทะเบียนตามกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็ต้องนำความไปจดทะเบียนด้วยเช่นกัน 

เพื่อเป็นการรับรองสิทธิของนิติบุคคลนั้นว่า มีความสามารถที่จะทำนิติกรรมได้ และเพื่อเปิดเผยให้บุคคลภายนอกได้รับรู้ถึงสถานะอำนาจหน้าที่ของกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้นๆ กระบวนการและขั้นตอนเป็นไปเพื่อรับรองสิทธิของนิติบุคคลในทางแพ่ง 

สถานภาพของผู้ฟ้องคดีจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ จึงต้องเป็นไปตามความประสงค์ของผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นหลัก ซึ่งเป็นเรื่องทางแพ่ง มิใช่อยู่ที่การรับจดทะเบียน เมื่อศาลจำต้องพิจารณาถึงสิทธิในทางแพ่งเป็นสำคัญแล้ว

ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม.