กรมชลประทาน เกาะติดลุ่มเจ้าพระยา ย้ำบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

กรมชลประทาน เกาะติดลุ่มเจ้าพระยา  ย้ำบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

กรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ลุ่มเจ้าพระยา ย้ำบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

วันนี้ (22 ม.ค.67) ที่ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 12 เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ดร.ทวีศักดิ์  ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 โดยมี ดร.ธเนศร์  สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา นายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 นายชุติมันต์ สกุลพราหมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 ตลอดจนผู้อำนวยการโครงการชลประทาน/โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา ผู้อำนวยการส่วนและหัวหน้าฝ่าย ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป  
 

สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (22 ม.ค.67) พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 56,242 ล้าน ลบ.ม. (74% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 16,182 ล้าน ลบ.ม. (65% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มี ด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก รักษาระบบนิเวศ  การเกษตร อุตสาหกรรม และสำรองไว้ใช้ในต้นฤดูฝนหน้าตามลำดับ จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศไปแล้วกว่า 9,870  ล้าน ลบ.ม. (46%) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 3,228  ล้าน ลบ.ม. (53%) ปัจจุบันทั้งประเทศมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 7.44 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 128 ของแผนฯ  เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 5.22 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 173 ของแผนฯ 

กรมชลประทาน เกาะติดลุ่มเจ้าพระยา  ย้ำบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
 

ทั้งนี้ ได้จึงกำชับไปยังโครงการชลประทานโดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก บริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับปริมาณน้ำในพื้นที่และเกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์ให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย รวมทั้งปฏิบัติตาม 9 มาตรการรับมือฤดูแล้งปี 66/67 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผน และเพียงพอไปตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า หย่อมความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงระลอกใหม่จะแผ่ปกคลุมบริเวณประเทศจีนตอนใต้และเวียดนามตอนบน ซึ่งจะส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีอากาศเย็นลง ลักษณะเช่นนึ้จะส่งผลให้ภาคใต้มีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น จึงได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานที่ 16-17 เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือประจำจุดเสี่ยงพร้อมเข้าช่วยเหลือพื้นที่ได้ทันที ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบได้อย่างทันท่วงที เพื่อบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

กรมชลประทาน เกาะติดลุ่มเจ้าพระยา  ย้ำบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด