ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติที่ 5 ส่งยาน SLIM ลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ

ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติที่ 5 ส่งยาน SLIM ลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ

สำเร็จ! ยานอวกาศญี่ปุ่น หรือ "ยาน SLIM" สามารถลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ กลายเป็นชาติที่ 5 ของโลก แต่ต้องมาลุ้นกันเรื่องพลังงานของยาน

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เผยแพร่ผ่านเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า ยาน SLIM โดยองค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ได้ส่งลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์สำเร็จแล้ว เมื่อวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 2024 เวลา 22:20 น. ที่ผ่านมา (ตามเวลาประเทศไทย) ความสำเร็จครั้งนี้ของวงการอวกาศญี่ปุ่น ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติที่ 5 ที่สามารถส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ

“การลงจอดครั้งแรกของเราสำเร็จแล้ว” ยามากาวะ ฮิโรชิ ประธานของ JAXA กล่าวระหว่างการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนหลังการลงจอดของยาน “พวกเราได้มาถึงพื้นผิวดวงจันทร์ ผมเชื่อว่าหนทางสู่พื้นผิวดวงจันทร์ได้เริ่มแล้ว”

ประเทศอื่น ๆ ก่อนหน้าญี่ปุ่นที่สามารถส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ ได้แก่ อดีตสหภาพโซเวียตและสหรัฐฯ ที่ส่งยานของตนลงจอดสำเร็จครั้งแรกในการแข่งขันทางอวกาศระหว่างช่วงสงครามเย็น จีนที่ส่งยานฉางเอ๋อ 3 (Chang’e 3) ลงจอดในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2013 และอินเดียที่ส่งยานในภารกิจจันทรยาน-3 ลงจอดสำเร็จ เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2023

อย่างไรก็ตาม ภารกิจยาน SLIM ก็ประสบปัญหาหลังการลงจอด จากแผงเซลล์สุริยะของยานไม่สามารถผลิตพลังงานได้ตามแผนภารกิจ ซึ่งหากไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในเร็ว ๆ นี้ ยาน SLIM จะยุติการทำงานหากไม่ได้ชาร์จพลังงาน

ยาน SLIM (ชื่อย่อจาก Smart Lander for Investigating Moon) ขึ้นสู่อวกาศเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2023 พร้อมกับ XRISM (อ่านว่า “คริซึม”) กล้องโทรทรรศน์อวกาศในย่านรังสีเอ็กซ์ ซึ่งจรวดได้ปล่อย XRISM สู่วงโคจรระดับต่ำรอบโลกในเวลาไม่นานหลังปล่อยจรวด แต่ยาน SLIM ต้องเดินทางเป็นระยะไกลกว่าเพื่อมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์

ยานค่อย ๆ ปรับเส้นทางไปยังดวงจันทร์ จนยานเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์เมื่อปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. 2023 ในช่วงแรกนั้น วงโคจรรอบดวงจันทร์ของยานมีรูปร่างเป็นวงรีที่รีมาก (อยู่ห่างจากพื้นผิวดวงจันทร์ที่ระดับความสูง 600 - 4,000 กิโลเมตร)

ในวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 2024 ยาน SLIM ได้จุดเครื่องยนต์จรวดเพื่อปรับวงโคจรรอบดวงจันทร์ให้เป็นรูปวงกลม (ห่างจากพื้นผิวดวงจันทร์ที่ระดับความสูง 600 กิโลเมตร) และเตรียมเข้าสู่ช่วงการร่อนลงจอดของยาน การร่อนลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ของยาน SLIM เริ่มขึ้นในวันที่ 19 มกราคม พร้อมกับการจุดเครื่องยนต์จรวดเพื่อประคองการเคลื่อนที่ของยาน จนยานโคจรรอบดวงจันทร์ที่ระดับความสูง 15 กิโลเมตร และเริ่มขั้นตอนการลงจอดในเวลา 22:00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) จนลงจอดสำเร็จในอีก 20 นาทีต่อมา

ทุกอย่างดูเป็นไปได้ด้วยดีระหว่างการร่อนลงจอด และยานสามารถส่งสัญญาณมายังโลกตลอดเวลาระหว่างการร่อนลงไปจนหลังถึงพื้นผิวดวงจันทร์แล้ว แต่ทาง JAXA ไม่สามารถยืนยันสถานะของยานได้ทันทีหลังการลงจอด จนกระทั่งในอีก 1 ชั่วโมงต่อมา ทาง JAXA ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับภารกิจยาน พร้อมข้อมูลเพิ่มเติมว่ายานประสบปัญหาเรื่องพลังงาน ปัญหาเรื่องพลังงานของยานดังกล่าวนั้น ทาง JAXA ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าทำไมแผงเซลล์สุริยะถึงไม่ทำงาน แต่ประเมินว่ายานไม่ได้เกิดความเสียหายระหว่างการลงจอด เนื่องจากฮาร์ดแวร์ของยาน SLIM ยังคงสถานะและทำงานได้ปกติ จึงเป็นไปได้ว่าตัวยานไม่ได้หันแผงเซลล์สุริยะไปทางดวงอาทิตย์ตามแผนภารกิจ

ยาน SLIM มีเป้าหมายภารกิจที่การลงจอดภายในระยะห่าง 100 เมตร จากพื้นที่เป้าหมายในการลงจอด บริเวณหลุมอุกกาบาตชิโอริ (Shioli Crater) ซึ่งถือเป็นความพยายามในการลงจอดของยานอย่างแม่นยำ ซึ่งเป็นพื้นฐานในภารกิจยานสำรวจดวงจันทร์ของญี่ปุ่นในอนาคต ซึ่งทีมภารกิจยานของทาง JAXA ต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อยืนยันผลลัพธ์ความแม่นยำในการลงจอดของยาน SLIM

ยาน SLIM ยังมีเป้าหมายภารกิจเพื่อเป็นการสาธิตว่ายานขนาดเล็กที่ใช้งบประมาณไม่มาก มีศักยภาพที่สามารถสำรวจดวงจันทร์ได้ ตัวยาน SLIM มีมวลเพียง 200 กิโลกรัม (หากไม่รวมเชื้อเพลิง) และใช้งบประมาณกับโครงการยานประมาณ 18,000 ล้านเยน (ราว 4,300 ล้านบาท)

แม้ว่ายาน SLIM จะมีเป้าหมายหลักเพื่อเป็นยานสาธิตเทคโนโลยีการลงจอด แต่ทาง JAXA ออกแบบให้ยานสามารถสำรวจทางวิทยาศาสตร์บางอย่างบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ ซึ่งหากไม่เกิดปัญหาเรื่องแผงเซลล์สุริยะไม่หันไปหาดวงอาทิตย์จนผลิตพลังงานไม่ได้ ยานจะมีระยะเวลาปฏิบัติภารกิจนานราว 2 สัปดาห์ (เท่ากับระยะเวลาของช่วงกลางวันบนดวงจันทร์) เนื่องจากยาน SLIM ไม่มีระบบทำความร้อนเพื่อปกป้องระบบอิเล็กทรอนิกส์ของยานจากช่วงกลางคืนที่หนาวเย็นมากบนดวงจันทร์

การสำรวจทางวิทยาศาสตร์ของยาน SLIM จะเน้นที่การสำรวจบริเวณโดยรอบพื้นที่ลงจอด ซึ่งอยู่ที่บริเวณละติจูด 13 องศาใต้ โดยใช้อุปกรณ์วัดสเปกตรัม ข้อมูลที่ได้จะช่วยประเมินถึงองค์ประกอบทางเคมีของพื้นผิวดวงจันทร์บริเวณพื้นที่ลงจอด สามารถใช้ศึกษาต่อถึงการกำเนิดและวิวัฒนาการของดวงจันทร์ได้ แต่ยาน SLIM ไม่มีโอกาสได้สำรวจทางวิทยาศาสตร์ เพราะติดปัญหาเรื่องพลังงาน

ยาน SLIM ยังบรรทุกยานลำลูกไปด้วย 2 ตัว ได้แก่ LEV-1 ยานขนาดเล็กที่กระโดดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ และ LEV-2 รถหุ่นยนต์ขนาดจิ๋วที่สามารถหดตัวเป็นรูปทรงลูกบอล (“LEV” ย่อมาจาก Lunar Excursion Vehicle) หุ่นยนต์ขนาดเล็ก 2 ตัวนี้จะปล่อยออกจากยานลำแม่ (ยาน SLIM) เพื่อรวบรวมข้อมูลบางส่วนและถ่ายภาพพื้นผิวดวงจันทร์

ข้อมูลสถานะของยานพบว่ายาน SLIM ปล่อยทั้ง LEV-1 และ LEV-2 ตามแผนภารกิจ และเท่าที่ทาง JAXA ทราบ พบว่ายาน LEV-1 สามารถทำงานได้

อย่างไรก็ตาม ยาน SLIM ไม่ใช่ยานที่มีเป้าหมายลงจอดบนดวงจันทร์ลำแรกของญี่ปุ่น ประเทศญี่ปุ่นส่งยานลงจอดขนาดเล็กชื่อ “โอโมเตนาชิ” (OMOTENASHI) ของ JAXA ไปกับภารกิจอาร์ทีมิส 1 (Artemis 1) ของสหรัฐฯ ที่มีเป้าหมายส่งยานโอไรออน (แบบไม่ได้บรรทุกนักบินอวกาศ) ไปโคจรรอบดวงจันทร์และกลับมายังโลก แต่ทางศูนย์ควบคุมภารกิจไม่สามารถติดต่อยานได้ ยานโอโมเตนาชิสูญหายไปและยกเลิกความพยายามที่จะลงจอด

ยานลำที่ 2 ของญี่ปุ่นที่พยายามลงจอดบนดวงจันทร์ คือ ยานฮากุโตะ-อาร์ (Hakuto-R) ในภารกิจ “ฮากุโตะ-อาร์ มิชชัน 1” (Hakuto-R Mission 1) ที่สร้างและจัดการโดย ispace บริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีอวกาศในกรุงโตเกียว ยานลำนี้สามารถเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ได้ แต่ระบบคอมพิวเตอร์บนยานทำงานผิดพลาดระหว่างการร่อนลงจอด จึงจบลงด้วยการพุ่งชนดวงจันทร์ เมื่อปลายเดือนเมษายน ค.ศ.2023

ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติที่ 5 ส่งยาน SLIM ลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ

เรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

อ้างอิง : space