ระลึกถึง อาจารย์ สุธรรม ส่งศิริ คนดี มีน้อย | บัณฑิต นิจถาวร

ระลึกถึง อาจารย์ สุธรรม ส่งศิริ คนดี มีน้อย | บัณฑิต นิจถาวร

การเสียชีวิตของ อาจารย์ สุธรรม ส่งศิริ ปรมาจารย์ผู้ทุ่มพลังและเวลาในช่วงท้ายของชีวิตให้กับการพัฒนาคนและธรรมาภิบาล นําความเศร้าโศกเสียใจมาให้กับทุกคนที่รู้จักท่าน

อาจารย์สุธรรม ส่งศิริ เป็นตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมหยุดนิ่งที่จะทํางานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เป็นตัวอย่างของผู้ใหญ่ที่มีความเมตตา ตั้งใจดี ไม่ถือตัว และให้เกียรติทุกคน

ชื่ออาจารย์สุธรรมอาจไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวาง แต่ผู้มาร่วมไว้อาลัยที่มากันล้นหลามแสดงถึงคนจํานวนมากที่เคารพและอาลัยการจากไปของท่าน มองเห็นถึงคุณความดีของท่าน วันนี้จึงขอระลึกถึงอาจารย์ สุธรรม ส่งศิริ คนดี มีน้อย

ผมรู้จักอาจารย์สุธรรม ช่วงทํางานส่งเสริมธรรมาภิบาลภาคธุรกิจที่สถาบันไอโอดีในฐานะประธานบริหารและซีอีโอ อาจารย์สุธรรมขณะนั้นเป็นวิทยากรให้ไอโอดีและมีบทบาทสำคัญช่วยให้งานของไอโอดีประสบความสำเร็จ

โดยเฉพาะความเป็นสถาบันของไอโอดี ซึ่งเป็นพันธกิจหลักที่ผมต้องการผลักดันตอนที่อยู่ไอโอดี คือทําให้ไอโอดีเป็นสถาบันกรรมการที่เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ

และอาจารย์สุธรรมมีส่วนเป็นอย่างมากช่วยทำให้พันธกิจนี้ประสบความสำเร็จ ทำให้ไอโอดีเป็นที่รู้จัก เป็นที่ยอมรับของกรรมการบริษัทในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน

อาจารย์สุธรรมมีความรู้และประสบการณ์กว้างขวางในเรื่องการกำกับดูแลกิจการ เคยเป็นผู้บริหาร เป็นกรรมการบริษัท เป็นกรรมการองค์กรไม่แสวงหากําไรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ความรู้และประสบการณ์ดังกล่าวเป็นประโยชน์มากต่องานของไอโอดี

อาจารย์สุธรรมเป็นวิทยากรหลักสูตรกรรมการบริษัทหรือ DCP และเป็นผู้ตรวจการบ้านหรือ assignment ที่ผู้เข้าอบรม DCP ทุกคนต้องทำและต้องผ่าน สองบทบาทนี้อาจารย์สุธรรมทําต่อเนื่องกว่า  15 ปีจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

ข้อมูลชี้ว่ากรรมการบริษัทในประเทศไทยกว่า 5,000 คนได้ผ่านการตรวจการบ้านของอาจารย์สุธรรม นี่คือบทบาทสำคัญและลํ้าค่าที่อาจารย์สุธรรมได้ทําไว้กับการสร้างธรรมาภิบาลในภาคธุรกิจและรักษามาตรฐานการเรียนการสอนของสถาบันไอโอดีให้ดีต่อเนื่อง

ที่ผมประทับใจคือบทบาทอาจารย์ที่ได้ช่วยเผยแพร่ธรรมาภิบาลไปยังภาคธุรกิจของประเทศเพื่อนบ้าน ที่จําได้ดีคือการอบรมธรรมาภิบาลให้กับกรรมการและผู้บริหารธนาคารพาณิชย์อันดับต้นของพม่าที่นครร่างกุ้ง

ที่อาจารย์สุธรรมร่วมเป็นวิทยากรซึ่งประสบความสำเร็จมาก นำไปสู่การยกระดับสถาบันไอโอดีให้เป็นที่รู้จักของภาคธุรกิจในภูมิภาค มีกรรมการบริษัทจากประเทศเพื่อนบ้านมาอบรมหลักสูตร DCP สม่ำเสมอ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักธุรกิจในภูมิภาค และนำไปสู่การจัดตั้งสถาบันไอโอดีของพม่าในที่สุด

อาจารย์สุธรรมเป็นใครมาจากไหน มีน้อยคนที่จะรู้ แต่โชคดีที่ใน YouTube มีคลิปที่อาจารย์พูดถึงเมืองชัยนาทและชีวิตตนเองในวัยเด็ก

จึงทราบว่าอาจารย์สุธรรมเป็นคนชัยนาทและครอบครัวรับใช้บ้านเมืองมาตั้งแต่รัชกาลที่สี่ ตระกูลส่งศิริมาจากฝ่ายบิดาที่มีเชื้อสายเป็นคหบดีที่ชัยนาท ทางมารดามาจากสายราชการคือตระกูลนิลกําแหงที่เป็นตระกูลใหญ่ของชัยนาทเช่นกัน

ตอนเด็กอาจารย์เรียนที่ชัยนาทจากนั้นคงเข้าเรียนที่กรุงเทพฯ และไปอเมริกาตั้งแต่เป็นหนุ่ม จบปริญญาตรีและโทที่อเมริกา และปักหลักที่รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นผู้จัดการธนาคาร เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

และจากที่อาจารย์ไปอเมริกาตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนามและตั้งรกรากที่นั้น ทําให้อาจารย์เป็นเหมือนผู้ใหญ่บ้านของคนไทยในแถบแคลิฟอร์เนีย ใครไปเรียนหนังสือหรือเดินทางผ่านก็ต้องเคยพบหรือได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์สุธรรม ซึ่งหลายคนปัจจุบันเป็นคนใหญ่โตของบ้านเมือง

อีกบทบาทของอาจารย์สุธรรมที่น้อยคนจะทราบแต่เป็นที่ทราบกันดีในวงการสงฆ์คือ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่อาจารย์มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งวัดพุทธานุสรณ์ เมืองฟรีมอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อปี 1983 ให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจคนไทยในต่างประเทศและพุทธศาสนิกชน

และให้ชาวตะวันตกสามารถเข้าถึงหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นคุณูปการของการทําหน้าที่เพื่อส่วนรวมและพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ ที่ได้สร้างประโยชน์และบุญกุศลต่อเนื่องมากว่าสี่สิบปี

เมื่ออายุมากขึ้น อาจารย์สุธรรมกลับเมืองไทยเป็นการถาวรเมื่อ 17- 18 ปีที่แล้วด้วยความตั้งใจที่ใช้ช่วงเวลาที่เหลือทําประโยชน์ให้กับประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาคนและส่งเสริมการทําในสิ่งที่ถูกต้องคือธรรมาภิบาล ซึ่งอาจารย์ก็ทําเต็มที่ ทําในทุกโอกาส ทําอย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย

โดยเข้าร่วมทั้งในภาคเอกชน เช่น สถาบันไอโอดี ภาคราชการ เช่น สำนักงาน กพร. โดยเฉพาะโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่เพื่อสร้างข้าราชการคุณภาพและสมรรถนะสูงที่ดำเนินการมาแล้ว 16 รุ่น

เป็นงานที่อาจารย์สุธรรมผูกพันมากและมีส่วนร่วมโดยตรงในฐานะวิทยากรและที่ปรึกษาผลักดันและขับเคลื่อนโครงการนี้ตั้งแต่รุ่นแรก มองลูกศิษย์ในโครงการเป็นเหมือนลูกหลาน เพราะบุคคลเหล่านี้คืออนาคตของระบบราชการไทยและอนาคตของประเทศ

สำหรับภาคประชาสังคม คือ มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล ที่อาจารย์สุธรรมเป็นกรรมการและเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเมื่อปี 2019 คือหลังผมจบพันธกิจที่ไอโอดี

ผมกับอาจารย์สุธรรมมีความเห็นตรงกันว่า คนรุ่นเราคือ baby boomers ยังสร้างประเทศได้ไม่ดีพอเทียบกับคนรุ่นเดียวกันในประเทศอื่นและเทียบกับโอกาสและความสามารถที่มี แต่กลับทิ้งปัญหาไว้มากให้กับคนรุ่นหลัง และหนึ่งในปัญหาที่ทิ้งไว้คือธรรมาภิบาลที่ถ่วงความเจริญของประเทศ

ปัจจุบันธรรมาภิบาลภาครัฐและภาคเอกชนมีหลายหน่วยงานดูแลอยู่ แต่ที่ขาดคือธรรมาภิบาลในภาคองค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งเป็นภาคใหญ่ของประเทศ จึงเป็นที่มาของพันธกิจของมูลนิธิ คือยกระดับการดําเนินนโยบายสาธารณะและส่งเสริมธรรมาภิบาลในองค์กรไม่แสวงหากำไร

และที่ผ่านมามูลนิธิได้ทําในหลายเรื่องในสองประเด็นนี้ และหนึ่งในโครงการสำคัญที่ทําอยู่ขณะนี้คือโครงการธรรมาภิบาลวัด ที่อาจารย์สุธรรมสนับสนุน

ผมพบอาจารย์สุธรรมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ก่อนอาจารย์จะเสียชีวิต 12 วัน เราทานอาหารเที่ยงร่วมกันในกลุ่มเพื่อนสนิทที่เคยทำงานด้วยกันและเข้าประชุมคณะกรรมการมูลนิธิในช่วงบ่ายด้วยกัน

วันนั้นอาจารย์สุธรรมสดใสมาก พูดจาเต็มเสียง เฮฮา และถ่อมตัวเหมือนปรกติ เราพูดกันถึงงานที่จะช่วยกันทําในอนาคต ไม่เฉลียวใจเลยว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้พูดคุยกับอาจารย์ เสียดายที่อาจารย์จากไปอย่างกะทันหัน

แม้วัยจะ 85 แต่ยังสามารถทําคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติและบ้านเมืองได้อีกมาก เป็นตัวอย่างคนดี มีน้อย ที่สังคมอาลัยอาวรเมื่อจากไป

พระราชวัชรธรรมภาณี เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ พระอารามหลวง กล่าวในพิธีสวดพระอภิธรรมว่า อาจารย์สุธรรม ส่งศิริ เป็นคนพิเศษ แม้ร่างกายจะจบสิ้นตามอายุขัยตามธรรมชาติ แต่ความดีงามที่ได้ทําไว้จะอยู่ต่อไป ไม่มีวันจบสิ้น ไม่ตาย เป็นอมตะคู่แผ่นดินนี้

ขอให้ดวงวิญญาณ อาจารย์สุธรรม ส่งศิริ ไปสู่สุขคติในที่ที่อาจารย์ชอบและประสงค์.

ระลึกถึง อาจารย์ สุธรรม ส่งศิริ คนดี มีน้อย | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]