กฎหมายกับทิศทางการท่องเที่ยวทางทะเลและเศรษฐกิจทางน้ำในทะเลใต้

กฎหมายกับทิศทางการท่องเที่ยวทางทะเลและเศรษฐกิจทางน้ำในทะเลใต้

จากความได้เปรียบในเชิงพื้นที่ ส่งผลให้พื้นที่ทะเลไทยมีอัตราการใช้ประโยชน์ทางทะเล ในเชิงของการท่องเที่ยวทางน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการดำน้ำลึก (Scuba Diving) การดำน้ำตื้น (Snorkeling) การท่องเที่ยวด้วยเรือในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่ทะเลเปิด หรือเรือสำราญ

เพื่อให้สอดรับกับหลักการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินของธนาคารโลก (Blue Economy Principle of World Bank) ประเทศไทยมีนโยบายสนับสนุนความเติบโตของการท่องเที่ยวทางน้ำ (Marine Tourism) เป็นอย่างมาก

เพื่อความสำเร็จในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคใต้ การปกป้องทรัพยากรทางทะเลและการเรียนรู้เพื่อการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีขึ้นโดยอาศัยแนวนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นกรอบในการก้าวต่อไป

ในบทความฉบับนี้ จะขอหยิบยกประเด็นการพัฒนาความมั่นคงทางทะเลในด้านของการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล จากกิจกรรมการท่องเที่ยวทางน้ำและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งสัมพันธ์กับบริบทกิจกรรมทางทะเล และความต้องการที่แท้จริงของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคทะเลใต้ โดยเปรียบเทียบและยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านในน่านน้ำอินโด- แปซิฟิก

เช่น ประเทศเกาหลีใต้ และประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีอัตราการขยายตัวของความต้องการใช้ประโยชน์ทางทะเลในด้านการท่องเที่ยวที่สูงมากออกสู่ระดับโลก

อาทิ เกาะเจจู (Jeju Island) หมู่เกาะในตอนล่างของคาบสมุทรเกาหลี และหมู่เกาะโอกินาว่า (Okinawa Island) ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งยังมีประเด็นที่น่าจับตามองและนำมาศึกษาเปรียบเทียบอย่างยิ่ง

พื้นที่ทะเลภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็น แนวปะการังที่สวยงาม สมบูรณ์และหลากหลาย (Coral Reefs)  ฝูงปลาเล็กใหญ่ (Fish Bank and Marine Mammals) เป็นปัจจัยสำคัญมีส่วนดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากทั้งจากในประเทศและต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ทะเลไทย

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาในปัจจุบันกับแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ในพื้นที่ภาคใต้

กฎหมายกับทิศทางการท่องเที่ยวทางทะเลและเศรษฐกิจทางน้ำในทะเลใต้

ประการแรก จะขอกล่าวถึงความได้สัดส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยวทางน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และเข้าสู่พื้นที่ทางทะเลเกินกว่าอัตราที่ธรรมชาติใต้ทะเลจะรับไหว ในแต่ละวัน สัปดาห์หรือเดือน รวมถึงความพร้อมในการจัดการจำนวนเรือและการใช้อุปกรณ์ท่องเที่ยวทางน้ำในแต่ละแหล่งท่องเที่ยว

ซึ่งเกาะเจจู ของประเทศเกาหลีใต้ประสบปัญหาเดียวกันนี้เนื่องจากปัญหามลภาวะทางทะเล อันสืบเนื่องจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของนักท่องเที่ยวหลังจากช่วงวิกฤตโรคอุบัติใหม่

แม้ว่าเกาะเจจูเองซึ่งได้รับการประกาศให้เป็น “มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งองค์การยูเนสโก (UNESCO World Natural Heritage Site)” ในด้านของสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์มีความคล้ายคลึงกับพื้นที่ทางทะเลของไทย อันมีสภาพเป็นหมู่เกาะแต่ระบบการจัดการและกฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องจะมีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร

กล่าวคือ หน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลพื้นที่ทางทะเลดังกล่าวและระเบียบปฏิบัติซึ่งถูกบังคับใช้โดยผู้มีอำนาจและผู้มีส่วนได้เสีย พื้นที่หมู่เกาะซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวในทะเลไทย

การบังคับใช้กฎหมายในประเด็นดังกล่าว แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ บ้างอยู่ภายใต้การบริหารจัดการขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น บ้างอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช บ้างอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกองทัพเรือไทยหรือกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

กฎหมาย ระเบียบ วิธีปฏิบัติและข้อบังคับลำดับรองต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเลจึงแปรผันตามหน่วยงานที่เข้ามากำกับดูแล ส่งผลให้มาตรฐานการบังคับใช้กฎหมาย บรรทัดฐานและการตีความกฎหมายในการควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยวและการจัดการพื้นที่แตกต่างกันออกไป

กฎหมายกับทิศทางการท่องเที่ยวทางทะเลและเศรษฐกิจทางน้ำในทะเลใต้

ในขณะที่เกาะเจจูและพื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเลอื่น ๆ ของเกาหลีใต้นั้นจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสามหน่วยงานหลักเหมือนกันทุกพื้นที่ กล่าวคือ องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ตำรวจน้ำ (Korean Coast Guard) และกรมอุทยานแห่งชาติ (Department of National Parks)

โดยแต่ละองค์กรจะแบ่งแยกหน้าที่ของตนเองอย่างชัดเจน ในพื้นที่ท่องเที่ยวเดียวกันและบังคับใช้กฎหมายหรือระเบียบปฎิบัติขององค์กรตนต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

อาทิ ตำรวจน้ำจะตรวจสอบเรื่องมลพิษทางทะเลจากกิจกรรมการท่องเที่ยวทางน้ำ หน่วยงานอุทยานจะดูแลเรื่องทรัพยากรทางทะเลและสัตว์ทะเล และองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นจะจัดการเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นต้น

ประการที่สอง เกิดขึ้นกับพื้นที่อื่นในภูมิภาคอาเซียนของเราด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ปัญหาความชำนาญและการให้ความร่วมมือของผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางน้ำ ทั้งจากเจ้าของกิจการท่องเที่ยวทางน้ำ ผู้ฝึกสอน พนักงานเรือและผู้นำเที่ยวทางน้ำในการควบคุมและกำกับดูแลพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวทางน้ำ

ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยากเนื่องจาก ประการแรกความแตกต่างของภาษาเนื่องจากทะเลประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวนมาก ประการต่อมาความเคยชินในหลักปฏิบัติและความรู้เท่าไม่ถึงการ

กฎหมายกับทิศทางการท่องเที่ยวทางทะเลและเศรษฐกิจทางน้ำในทะเลใต้

ในประเด็นนี้มีพระราชบัญญัติ ธุรกิจนําเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑ กำกับการดำเนินงาน กิจการและการนำเที่ยวของมัคคุเทศน์ ซึ่ง ระเบียบปฏิบัติดังกล่าวครอบคลุมรวมถึงการท่องเที่ยวทางน้ำด้วย ซึ่งมีเนื้อหาที่ละเอียดและชัดเจน

หากแต่ปัญหาอาจเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว การตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐว่ามีการปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวจริงหรือไม่ มากน้อยเพียงใด

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับพื้นที่ท่องเที่ยวหมู่เกาะโอกินาวาแล้วนั้น พบว่าการดำเนินงานของร้านดำน้ำ กิจการเรือท่องเที่ยว ผู้นำเที่ยวและผู้ฝึกสอนมีความเคร่งครัดในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างมาก

อาทิเช่น เรื่องการไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการังหรือรบกวนสัตว์ทะเล การตรวจสอบอุปกรณ์และเรือที่จะเข้าสู่พื้นที่ทางทะเล ไม่ให้เป็นการสร้างมลพิษทางทะเล หากมีการละเมิดหรือหละหลวมในการปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าว

โอกินาวามีการบังคับใช้ระบบการมีส่วนร่วมและการกดดันให้ปฎิบัติตามกฎหมายโดยชุมชนด้วยกันเองที่เข้มงวดเป็นอย่างมาก กฎหมายที่มีขึ้นเพื่อกำกับดูแลการท่องเที่ยวทางน้ำของหมู่เกาะโอกินาวา จึงมีประสิทธิผลมากแม้ว่าจะประสบปัญหาเจ้าหน้าที่อุทยานที่ลาดตระเวนน่านน้ำ ไม่เพียงพอเช่นเดียวกับประเทศไทย

จึงมีประเด็นที่น่าสนใจว่า ทิศทางและพัฒนาการของกฎหมายที่จะใช้บังคับกำกับดูแลการท่องเที่ยวทางทะเลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลใต้นั้น จะสอดรับกับอัตรานักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ แต่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างไร.