เตือน 4 จว.ใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ช่วง 25 – 30 พ.ย.นี้

เตือน 4 จว.ใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ช่วง 25 – 30 พ.ย.นี้

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประกาศ ช่วง 25 – 30 พ.ย.นี้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ พบมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สทนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำตามฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) มีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงวันที่ 25 – 30 พฤศจิกายน 2566 ดังนี้

1. เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

  • จังหวัดพัทลุง (อำเภอเมืองพัทลุง กงหรา เขาชัยสน ตะโหมด บางแก้ว ปากพะยูน และป่าบอน) 
  • จังหวัดสงขลา (อำเภอเมืองสงขลา กระแสสินธุ์ ระโนด สทิงพระ สิงหนคร จะนะ ควนเนียง หาดใหญ่ เทพา นาทวี นาหม่อม บางกล่ำ รัตภูมิ และสะบ้าย้อย) 
  • จังหวัดปัตตานี (อำเภอเมืองปัตตานี กะพ้อ โคกโพธิ์ ทุ่งยางแดง ปะนาเระ มายอ แม่ลาน ไม้แก่น ยะรัง ยะหริ่ง สายบุรี และหนองจิก) 
  • จังหวัดยะลา (อำเภอเมืองยะลา และรามัน) 
  • จังหวัดนราธิวาส (อำเภอเมืองนราธิวาส จะแนะ เจาะไอร้อง ตากใบ บาเจาะ ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ ศรีสาคร สุคิริน สุไหงโก-ลก และสุไหงปาดี) 
     

เตือน 4 จว.ใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ช่วง 25 – 30 พ.ย.นี้

2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด

3. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส
 

เตือน 4 จว.ใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ช่วง 25 – 30 พ.ย.นี้

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ

2. ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและ อิทธิพลของการขึ้น – ลง ของน้ำทะเล โดยการเร่งระบายและพร่องน้ำรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนัก

3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก พร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์ เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที