"5ส" พื้นฐานสำคัญการพัฒนาองค์กรธุรกิจอุตสาหกรรม

"5ส"  พื้นฐานสำคัญการพัฒนาองค์กรธุรกิจอุตสาหกรรม

ทุกวันนี้ “ระบบมาตรฐานคุณภาพ” (การบริหารจัดการคุณภาพ) คือพื้นฐานที่สำคัญยิ่งขององค์กรธุรกิจอุตสาหกรรม เพราะเป็นปัจจัยของการต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เพิ่มศักยภาพเชิงการแข่งขันให้ยืนหยัดบนเวทีโลกได้

สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ สสท.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงริเริ่มจัดกิจกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยการมอบรางวัล “5ส ประเทศไทย” หรือ “Thailand 5S Award” ให้แก่องค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการใช้ “ระบบ 5ส” บริหารจัดการองค์กร 

เพื่อเป็น "พื้นฐาน” ขยายผลไปสู่การดำเนินกิจกรรมบริหารจัดการคุณภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 

ตลอดจนเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จาก “สุดยอดการปฏิบัติ” (Best Practice) ขององค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดสังคมอุดมปัญญาในการนำ “ระบบ 5ส” ไปประยุกต์ปฏิบัติใช้ต่อไป

การจัดงาน “Thailand 5S Award” ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมานี้  จึงเป็นการจัดอย่างต่อเนื่อง (ปกติจัดขึ้นปีละครั้ง) งานนี้เป็นครั้งที่ 22 แล้ว  ปีนี้มีองค์กรให้ความสนใจร่วมส่งผลการดำเนินงาน “ระบบ 5ส” ขององค์กรเข้าร่วมประกวดจำนวนมาก 

องค์กรต้องผ่านกระบวนการพิจารณาหลายขั้นตอน  ตั้งแต่รอบพิจารณาเอกสาร รอบนำเสนอผลงาน รอบคัดเลือก รอบตรวจประเมิน “ระบบ 5ส” ณ สถานประกอบการจริง 2 ครั้ง 

ดังนั้น กว่าจะได้องค์กรที่ได้รับการพิจารณาความชัดเจนจนผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศในวันนั้น จึงเหลือเพียง 15 องค์กรเท่านั้น

\"5ส\"  พื้นฐานสำคัญการพัฒนาองค์กรธุรกิจอุตสาหกรรม

แต่เดิมนั้น (ตั้งแต่ปี 2524) “ระบบ 5ส” (กิจกรรม 5ส) หมายถึงกิจกรรมที่ว่าด้วย “สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ และสร้างนิสัย”

แต่ปัจจุบัน สสท.ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับภารกิจจริงและผลลัพธ์ของ “ระบบ 5ส” มากยิ่งขึ้น จึงกลายเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับ “สะสาง สะดวก สะอาด สร้างมาตรฐาน และสร้างวินัย”

การจัดงาน “Thailand 5S Award” นับเป็นการผลักดันการทำ “ระบบ 5ส” อย่างไม่หยุดยั้ง โดยใช้เวทีการประกวดเป็นที่เผยแพร่การดำเนินงาน 5ส สู่สาธารณชน ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับองค์กรต่างๆ มีความมั่นใจในการนำ “ระบบ 5ส” ไปประยุกต์ใช้ เพื่อการบริหารงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ

โดยเฉพาะการกำหนด “พื้นที่ตัวอย่าง” ที่เกิดจากการปรับปรุงพื้นที่ต่างๆ ในองค์กร เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประกวดในครั้งต่อไป 

ดังนั้น “Thailand 5S Award” จึงเพิ่มรางวัล “พื้นที่ดีเด่น” หรือ “5S Model Award” ซึ่งในปีนี้มีพื้นที่ดีเด่นที่ได้รับรางวัลถึง 9 องค์กร (จำนวน 22 พื้นที่)

“ระบบ 5ส” จึงเป็นพื้นฐานของระบบการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ และเป็นแนวความคิดหลักของ “การเรียนรู้สู่การปฏิบัติ” คือ รู้ เข้าใจ สามารถเชื่อมโยงไปสู่การปฏิบัติได้จริง

และเมื่อสามารถปฏิบัติได้แล้ว ก็จะพัฒนาขยายผลไปสู่ “ระบบมาตรฐานคุณภาพ” และระบบบริหารจัดการอื่นๆ ในระดับที่สูงขึ้นต่อไปด้วย

\"5ส\"  พื้นฐานสำคัญการพัฒนาองค์กรธุรกิจอุตสาหกรรม

“ระบบ 5ส” เริ่มได้จากการ “เลือกทิ้ง-เลือกเก็บ” อย่างเป็นระบบ เพื่อการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในที่ทำงานและการพัฒนาองค์กรด้วย ซึ่งมุ่งหมายใน “ผลสัมฤทธิ์” สำคัญ 3 ประการ ได้แก่

(1) Productivity การทำน้อยได้มาก เหนื่อยน้อยได้งานมาก ใช้ทรัพยากรน้อยกว่าแต่ได้งานเท่าเดิมหรือได้มากกว่า เป็นต้น

(2) Creativity and Innovation คือ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรม เช่น จะเก็บของอย่างไร จะกำหนดพื้นที่เก็บของอย่างไร จะต้องทำอะไรบ้าง จึงจะง่ายต่อการจัดเก็บและค้นหาได้ง่าย เป็นต้น

(3) Standard and Discipline คือ การสร้างมาตรฐานและการมีวินัยในการทำงาน 

ผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดเจนของ “ระบบ 5ส” นอกจากจะทำให้ที่ทำงานโล่งและดูสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว ก็คือลดความสูญเสีย (Waste Reduction) ในองค์กรได้ด้วย โดยสามารถเรียกคืน “พื้นที่ว่าง” (เพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่น) สามารถลดต้นทุนการผลิต และเพิ่ม “ประสิทธิภาพประสิทธิผล” พร้อมกันไปด้วย

\"5ส\"  พื้นฐานสำคัญการพัฒนาองค์กรธุรกิจอุตสาหกรรม

แนวความคิดหลักต่างๆ ของ “ระบบ 5ส” อาทิ 

(1) การแยกแยะของจำเป็นกับไม่จำเป็น

(2) การเลือกทิ้ง-เลือกเก็บ

(3) ของหายก็รู้-อยู่ก็เห็น-ดูแล้วเป็นระเบียบ

(4) ความสะอาดเป็นนิจชีวิตเป็นสุข

(5) การสร้างนิสัยและเพิ่มวินัย

(6) การจัดครั้งเดียว-เก็บเกี่ยวมากมาย เป็นต้น

ล้วนแต่เป็นผลพวงที่เกิดขึ้น “ทันตาเห็น” จากการลงมือปฏิบัติ “กิจกรรม 5ส” จริงๆ

“ระบบ 5ส” หรือ “กิจกรรม 5ส” จึงเป็นพื้นฐานของ “การพัฒนาองค์กร” เพื่อก้าวไปสู่ “องค์กรคุณภาพ” (Quality Organization) และ “องค์กรที่มีสมรรถนะสูง” (High Performance Organization) 

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ แม้ว่า “รางวัล” จะสำคัญ แต่ก็เป็นเพียงแรงกระตุ้นจูงใจ เพื่อประเมินความสามารถและเอาชนะความท้าทายสู่เป้าหมายเท่านั้น 

“รางวัล” จึงไม่ใช่ “เป้าหมาย” ที่แท้จริงขององค์กร ครับผม!