สทนช. เตรียมตั้งศูนย์ฯ ส่วนหน้า ในพื้นที่ภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมช่วงฝนตกหนัก

สทนช. เตรียมตั้งศูนย์ฯ ส่วนหน้า ในพื้นที่ภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมช่วงฝนตกหนัก

สทนช. ติดตามสถานการณ์น้ำภาคใต้ ชี้มีแนวโน้มฝนตกหนักมากขึ้น เร่งพร่องน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำเตรียมรองรับปริมาณน้ำไหลเข้าเพิ่มโดยไม่ให้กระทบประชาชน พร้อมเตรียมตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยง มุ่งดูแลปัญหาน้ำในพื้นที่อย่างตรงจุด

วันนี้ (15 พ.ย. 66) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำ ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูแล้งแล้ว ส่งผลให้ปริมาณฝนในหลายพื้นที่ลดลง 

อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่ภาคใต้มีแนวโน้มที่จะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น ในวันนี้จึงได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ วิเคราะห์และประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ล่วงหน้า ช่วยป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดแก่ประชาชนได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ 

สทนช. เตรียมตั้งศูนย์ฯ ส่วนหน้า ในพื้นที่ภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมช่วงฝนตกหนัก

โดยจากการติดตามสถานการณ์ปัจจุบันของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ 4 แห่ง พบว่า 

  • เขื่อนรัชชประภา มีปริมาณน้ำเก็บกัก 4,418 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 78% ของความจุ
  • เขื่อนบางลาง มีปริมาณน้ำเก็บกัก 839 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 58% ของความจุ
  • เขื่อนแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำเก็บกัก 488 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 69% ของความจุ
  • เขื่อนปราณบุรี มีปริมาณน้ำเก็บกัก 175 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 45% ของความจุ

ซึ่งอ่างฯ ทุกแห่ง จะมีการระบายน้ำเพื่อเตรียมพร้อมรองรับปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าจากฝนที่ตกเพิ่มมากขึ้นในระยะนี้ โดยจะพิจารณาอย่างรอบคอบไม่ได้ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่และประชาชน โดยสำหรับเขื่อนบางลาง จะมีการระบายน้ำในปริมาณวันละ 8 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 8-30 พ.ย. 66 ตามมติคณะทำงานการบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลาง โดยจะมีการติดตามสถานการณฺน้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับแผนการระบายน้ำเพื่อป้องกันผลกระทบในกรณีที่สถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ท้ายน้ำ 

"ในช่วงนี้ฝนจะเริ่มชุกมากขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออก ตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ระนอง จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช จ.สงขลา จ.นราธิวาส จ.ยะลา และ จ.ปัตตานี ซึ่งจะเป็นลักษณะของฝนที่ตกปริมาณมากในช่วงสั้น ๆ โดยขณะนี้มีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และ สทนช. ได้มีการประกาศแจ้งเตือนล่วงหน้า เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงระหว่างวันที่ 14-18 พ.ย. นี้ และจะมีการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อออกประกาศแจ้งเตือนหากพบพื้นที่เสี่ยงต่อไป

 

พร้อมกันนี้ ได้มีการเตรียมวางแผนจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและตรงจุดมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ยังได้มอบหมายให้ สสน. พัฒนาเครื่องมือคาดการณ์ล่วงหน้าให้มีความถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแจ้งเตือนประชาชน นอกจากนี้ สำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาว จะมีการปรับปรุงแก้ไขระบบระบายน้ำให้สามารถรองรับปริมาณฝนท่ามกลางปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศให้ได้ดียิ่งขึ้นด้วย" เลขาธิการ สทนช. กล่าว

ดร.สุรสีห์ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในภาคกลาง ปัจจุบันใกล้จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.13 ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท จะมีปริมาณลดลงเหลือ 700 ลบ.ม. ต่อวินาที ในช่วงประมาณวันที่ 16-18 พ.ย. นี้ ซึ่งเป็นระดับที่จะไม่ส่งผลกระทบ จึงได้มีแผนเตรียมปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันศุกร์นี้ (17 พ.ย. 66)

ทั้งนี้ นอกจากการเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักในภาคใต้ สทนช. ได้เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้มีอ่างฯ เฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนคลองสียัด โดยจะมีการจัดลำดับความสำคัญการใช้น้ำตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด ซึ่งเป็นหนึ่งใน 9 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 โดยมีน้ำอุปโภค บริโภค เป็นความสำคัญลำดับแรก และขอความร่วมมือประชาชนในเขตชลประทานบริเวณพื้นที่ 4 อ่างฯ ดังกล่าว ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องและปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมชลประทานอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อผลผลิตทางการเกษตร