เปิดสูตร วิธีการคำนวณหนี้ กยศ. (ใหม่) จ่ายเกิน 150% ของยอดกู้ หยุดจ่ายได้เลย

เปิดสูตร วิธีการคำนวณหนี้ กยศ. (ใหม่) จ่ายเกิน 150% ของยอดกู้ หยุดจ่ายได้เลย

เปิดสูตร เช็กวิธีการคำนวณหนี้ กยศ. (ใหม่) จ่ายเกิน 150% ของยอดกู้แล้ว สามารถหยุดจ่ายได้เลย เช็กดูว่ายอดหนี้ของเราตอนนี้ชำระให้ กยศ. ถึงแล้วหรือยัง

เปิดสูตร เช็กวิธีการคำนวณหนี้ กยศ. (ใหม่) ครอบคลุม 3.5 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 4 แสนล้านบาท โดยเน้นกลุ่มที่อยู่ในชั้นกรมบังคับคดี 4.6 หมื่นราย และกลุ่มที่คดีใกล้หมดอายุความอีกราว 4 หมื่นราย รวมถึงกรณีจ่ายหนี้ กยศ. เกิน 150% ของยอดกู้ สามารถหยุดจ่ายได้ทันที

กรณีจ่ายหนี้ กยศ. เกิน 150% สามารถหยุดจ่ายได้ทันที เช่น 

  • เงินต้น 1 แสนบาท ผ่อนชำระแล้ว 1.5 แสนบาท หยุดชำระได้ทันที 
  • เงินต้น 1.5 แสนบาท ผ่อนชำระแล้ว 2.25 แสนบาท หยุดชำระได้ทันที 
  • เงินต้น 2 แสนบาท ผ่อนชำระแล้ว 3 แสนบาท หยุดชำระได้ทันที

การเช็กดูว่ายอดหนี้ของเราตอนนี้ชำระให้ กยศ. ไปแล้วถึง 150% หรือยัง ให้เอาเงินต้นคูณ 150 หาร 100 ก็จะได้จำนวนเงินที่เราจะต้องชำระให้ กยศ. ซึ่งถ้าหากเราจ่ายถึงยอดที่ได้แล้วก็สามารถหยุดจ่ายได้เลยนั่นเอง

การปรับหนี้ กยศ. ให้เป็นไปตามข้อกำหนดใน พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ที่มีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 1% ต่อปี กรณีผิดนัดชำระจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยปรับจาก 7.5% เหลือ 0.5% ต่อปี และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน รวมทั้งให้มีการปรับลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่ ให้หักชำระเงินต้นเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด จากนั้นเป็นดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใด และเงินเพิ่มตามลำดับนั้น

กยศ. ได้ปรับคำนวณยอดหนี้แบบใหม่เพื่อให้ลดหนี้ได้เร็วขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับแบบเดิมเมื่อชำระหนี้ คือ หักเงินต้นก่อน , หักดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่ , หักดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ซึ่งแบบเดิมจะเริ่มจากหักดอกเบี้ยผิดนัดชำระ , หักดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่ และหักยอดเงินต้น

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่จะทำให้ผู้กู้ กยศ.ได้ประโยชน์มากขึ้น โดยหลังจากคำนวณอัตราดอกเบี้ยใหม่แล้วหากมีการชำระเกิน กองทุน กยศ.ก็จะคืนเงินส่วนเกินนั้นให้กับผู้กู้

จากตัวเลขสถิติข้อมูล กยศ.วันที่ 30 ก.ย.2566 พบว่าจำนวนผู้กู้ กยศ. ทั้งหมด 6,739,085 ราย แบ่งเป็น ผู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,537,022 ราย สัดส่วน 53% อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1,299,490 ราย สัดส่วน 19% ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1,830,978 ราย สัดส่วน 27% และเสียชีวิต/ทุพพลภาพ 71,595 ราย สัดส่วน 1%