ระบบแจ้งเตือนอัคคีภัยใน กทม. พร้อมทดสอบระบบผ่าน Traffy Fondue ภายใน ม.ค 67

ระบบแจ้งเตือนอัคคีภัยใน กทม. พร้อมทดสอบระบบผ่าน Traffy Fondue ภายใน ม.ค 67

รศ.ทวิดา รองผู้ว่าฯ กทม. เผย ระบบแจ้งเตือนอัคคีภัยในกทม. พร้อมทดสอบระบบผ่าน Traffy Fondue ภายใน ม.ค 67 ระบุ โดยเริ่มด้วยเหตุการณ์ที่เกิดบ่อยและจะขยายผลไปถึงเหตุการณ์ฉุกเฉินที่มีผู้คนเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก

วันนี้ (13 พ.ย.66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหารือการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินและการเผชิญเหตุในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า

ระบบแจ้งเตือนอัคคีภัยใน กทม. พร้อมทดสอบระบบผ่าน Traffy Fondue ภายใน ม.ค 67

รองผู้ว่าฯ ทวิดา เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า หลังเกิดเหตุการณ์กราดยิง ณ สยามพารากอน ประชาชนได้มีการทวงถามถึงระบบการแจ้งเตือนภัยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินที่ค่อนข้างรุนแรงว่าจะสามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างไรบ้างนั้น ก่อนหน้านี้ได้มีการหารือกับสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยทาง กสทช. จะดำเนินการศึกษาระบบเทคนิคเกี่ยวกับ Operator เครือข่ายโทรศัพท์ด้วยระบบว่าจะสามารถส่งข้อมูลอย่างไร ในขณะเดียวกันสัปดาห์ก่อนก็ได้เข้าร่วมประชุมกับรองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับระบบเตือนภัยทั้งหมด พบว่าความยากของการจัดการระบบคือเรื่องเนื้อหาของเหตุการณ์ ยกตัวอย่าง กรณีเหตุการณ์กราดยิง หรือเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกี่ยวข้องกับวินาศกรรมจะข้องเกี่ยวกับหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะเมื่อเกิดในพื้นที่เอกชนหรือพื้นที่ปิด การที่จะส่งข้อมูลแจ้งเตือน ข้อมูลดังกล่าวต้องถูกกรองและเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เมื่อแจ้งเตือนแล้วต้องมีแนวปฏิบัติที่ถูกต้องให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงหน่วยงานในพื้นที่ทั้งสำนักงานตำรวจ สำนักงานเขต หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน หรือหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ จะต้องทำงานบูรณาการกันอย่างไร 

ในอีกมุมหนึ่ง กรุงเทพมหานครคิดว่ามีภาวะฉุกเฉินบางประเภท เช่น อัคคีภัย ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกทม. อย่างเต็มรูปแบบ หากจะทำระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน (Emergency Alert) อาจจะสามารถทำเบื้องต้นในการรองรับระบบและขั้นตอนการทำงานที่รัดกุมกับเรื่องของอัคคีภัยได้ วันนี้จึงเป็นการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมควบคุมมลพิษ และ กสทช. เพื่อตั้งคณะทำงานและวางขั้นตอน และระบบในการส่งข้อมูลแจ้งเตือน เมื่อขั้นตอนการทำงานการแจ้งเตือนอัคคีภัยครบถ้วนจะทดสอบระบบเบื้องต้นใน Traffy Fondue ก่อน ซึ่งคาดว่าภายในเดือนมกราคม 2567 จะสามารถทดสอบระบบได้ ในขณะเดียวกันด้าน กสทช.และ ดส. จะดำเนินการเรื่อง Operator ซึ่งหลังจากนั้นจะเป็นการเชื่อมระบบเข้าด้วยกัน

ระบบแจ้งเตือนอัคคีภัยใน กทม. พร้อมทดสอบระบบผ่าน Traffy Fondue ภายใน ม.ค 67

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวต่อไปว่า ด้วยความที่เป็นเรื่องที่ต้องทำด้วยความรอบคอบและรัดกุม กทม. จึงขอเริ่มด้วยเหตุการณ์ที่เกิดบ่อย และจะขยายผลไปถึงเหตุการณ์ฉุกเฉินที่มีผู้คนเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีเงื่อนไขความเสี่ยงและความปลอดภัยที่สูงขึ้นเข้ามาเกี่ยวข้อง
 

ในส่วนความเป็นไปได้ในการส่งข้อความแจ้งเตือนผ่านมือถือ ในทางเทคนิคสามารถทำได้หากจะมีข้อจำกัดก็คงเป็นเรื่องของค่าใช้จ่าย และการจัดการระบบอย่างไรให้เชื่อมโยงกัน แต่สิ่งสำคัญคือการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน เป็นลักษณะการแจ้งคนละแบบและมีการตอบสนองคนละอย่างกับการแจ้งเตือนภัยอื่น ยกตัวอย่างการแจ้งเตือนในต่างประเทศ เช่น แจ้งคนหาย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องมีความระมัดระวัง

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษมีการแจ้งเตือนสถานการณ์ล่วงหน้าถึง 7 วัน ทางกทม. ก็เชื่อมระบบนั้นเข้าด้วยกัน และนอกจากระบบที่เชื่อมเข้ากันดังกล่าว หากยกตัวอย่างเมื่อเกิดเหตุอัคคีภัยแล้วเกิดการไหม้วัตถุเป็นพิษ ควันที่เกิดขึ้นจะเป็นพิษระดับใด ต้องอพยพประชาชนหรือไม่ หลังเกิดเหตุประชาชนจะเข้าสู่พื้นที่อย่างไร ซึ่งภัยต่อเนื่องเช่นนี้กรมควบคุมมลพิษก็จะสามารถทำงานร่วมกับ กทม. จากระบบนี้ได้ด้วยเช่นกัน