กรมการกงสุล เผย มีแรงงานไทยในอิสราเอลกว่า 2 หมื่นคน ยังไม่อพยพกลับ

กรมการกงสุล เผย มีแรงงานไทยในอิสราเอลกว่า 2 หมื่นคน ยังไม่อพยพกลับ

"กรมการกงสุล" เผย ยังมีแรงงานไทยอยู่ในอิสราเอล กว่า 2 หมื่นคน ระบุ นำกลับมาแล้ว 7 พันคน ด้าน กรมจัดหางาน ชี้ แรงงานอพยพกลับบางส่วน ต้องการไปทำงานที่เกาหลี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน

วันนี้ (8 พ.ย. 66) นายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ(กมธ.) สภาผู้แทนราษฎรติดตามแรงงานไทยที่รับผลกระทบ จากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล โดยได้เชิญผู้แทนจาก "กรมการกงสุล" กระทรวงการต่างประเทศ และจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เข้าให้ข้อมูลสถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นในอิสราเอล-กาซา ก่อนที่จะเดินทางไปจังหวัดอุดรธานีวันที่ 9 พ.ย.นี้ เพื่อไปเยี่ยมครอบครัวของผู้ที่สูญเสียชีวิตและครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ในระหว่างพูดคุย มีอนุกรรมาธิการพยายามสอบถาม ตัวเลขของแรงงานไทยในอิสราเอลตรงกับความเป็นจริงกับฐานข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐมีหรือไม่ และการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่กับกระทรวงแรงงานเป็นอย่างไร 

กรมการกงสุล เผย มีแรงงานไทยในอิสราเอลกว่า 2 หมื่นคน ยังไม่อพยพกลับ
 

นายณรงค์ บุญเสถียรวงศ์ รองอธิบดีกรมการกงสุล เปิดเผยว่า กระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน เรื่องการสำรวจตัวเลขแรงงานไทย ที่ทำงานอยู่ในอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่า ผู้ที่ไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย โดยธรรมชาติจะพยายามหลบซ่อน อีกทั้งสถานการณ์สงครามยังเป็นปัจจัยที่ทำให้การสำรวจตัวเลขไม่มีความชัดเจน และไม่สามารถทำได้เท่าที่ควร จึงตั้งเป้าไว้ที่ประมาณ 30,000 คน แต่ย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่ถูกหรือไม่ถูกกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ก็จะดูแลคนไทยทุกคนอย่างเต็มที่ พร้อมบูรณาการกับหลายประเทศเพื่อทำงานร่วมกัน 

ขณะที่ การจัดเที่ยวบินเพื่ออพยพคนไทยกลับมายังประเทศที่ผ่านมานั้น รองอธิบดีกรมการกงสุล ชี้แจงว่า รัฐบาลได้จัดเที่ยวบินทั้งหมด 35 เที่ยวบิน สามารถพาคนไทยกลับมาได้ประมาณ 7,000 คน และแม้ประเทศไทย จะมีแผน 2 หลังวันที่ 31 ตุลาคม ยังสามารถจัดเที่ยวบินรับคนไทยเดินทางกลับได้หากต้องการ แต่เบื้องต้นได้รับรายงานว่า มีคนไทยแสดงความประสงค์เดินทางกลับไม่ถึงร้อยคน จึงเข้าใจว่า ตัวเลขการเดินทางกลับขณะนี้ อยู่ในจุดสมดุลแล้ว เนื่องจากคนไทยอาจมีความมั่นใจ และเคยชินกับสถานการณ์การสู้รบที่เป็นปกติ ขณะเดียวกัน มองว่าอิสราเอล คงไม่ยอมเสียหน้า คาดว่า สงครามครั้งนี้ ทางอิสราเอลก็หวงแรงงานไทย ซึ่งเป็นแรงงานสำคัญด้านการเก็บพืชไร่ เพราะในเขตที่สู้รบมีฟาร์มจำนวนมาก 
 

รองอธิบดีกรมการกงสุล กล่าวต่อ ได้รับรายงานจากเอกอัครราชทูตไทย กรุงเทลอาวีฟ ว่า ได้รับการติดต่อจากผู้ใหญ่ของอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวานนี้ (7 พ.ย.) รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรอิสราเอล เชิญทูตไปพบ สอบถามเรื่องจำนวนแรงงานไทย เพราะจะต้องคำนวณตัวเลขรายงานสำหรับการชดเชย ที่ใช้แรงงานในประเทศ และกำลังทำข้อตกลงกับศรีลังกา ที่จะนำเข้าแรงงานจำนวน 10,000 คนแทนที่รายงานไทย

สิ่งที่รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรอิสราเอลแจ้งทูตไทยคือ เรื่องหลักประกันความปลอดภัยของพื้นที่บางส่วนที่สามารถทำงานได้ เช่น พื้นที่เขตทะเลทรายอาราวา เป็นพื้นที่ปลอดภัย และทางอิสราเอลหวังให้แรงงานไทยอยู่ ซึ่งแรงงานไทยยังอยู่อิสราเอลอีก 20,000 คน โดยกระจายไปในจุดที่ไม่ใช่เป้าของการโจมตี ทางอิสราเอลพยายามโน้มน้าวให้ฝ่ายไทย พิจารณาเรื่องส่งแรงงานไทยกลับ ซึ่งทางการไทยได้ตอบเพียงว่า หากสถานการณ์กลับไปเป็นปกติ แรงงานไทยจะกลับไปแน่ เพราะการทำงานที่อิสราเอลรายได้ดี 

ส่วนการติดต่อสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กับแรงงานนั้น รองอธิบดีกรมการกงสุล กล่าวว่า สามารถติดต่อสื่อสารได้ครอบคลุม โดยใช้ช่องทางการติดต่อจากบริษัทนายหน้า, กลุ่มไลน์, ประชาสัมพันธ์ผ่านทาง Facebook สถานทูต และยังมีคอลเซ็นเตอร์ ที่ได้เพิ่มเติมเจ้าหน้าที่ในการประสานงานไปแล้ว ส่วนการเจรจาเพื่อประสานช่วยเหลือตัวประกัน ติดต่อผ่านมิตรประเทศ คือ การ์ต้า อียิปต์ อิหร่าน เนื่องจากเป็นประเทศที่มีสายสัมพันธ์กับกองกำลังที่เกี่ยวข้อง

ด้าน นายโอวาท ทองบ่อมะกรูด ผู้ตรวจราชการกรม กรมการจัดหางาน ให้ข้อมูลตัวเลขแรงงานที่ยื่นคำร้อง รับสิทธิประโยชน์ จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานที่ต่างประเทศ 6,661 คน โดยพิจารณาสั่งจ่ายกองทุน 2,386 คน เป็นวงเงินกว่า 37 ล้านบาท และกระทรวงแรงงานมีคำสั่งให้ลงพื้นที่พบแรงงานมาแล้ว 2,654 คน ในจำนวนนี้สอบถามการช่วยเหลือด้านทำงาน ปรากฏว่ามีคนตอบแบบสอบถาม ประสงค์ทำงานต่างประเทศ 1,374  คน ประสงค์ทำงานในประเทศ 139 คน และต้องการประกอบอาชีพอิสระ 389 คน ที่เหลือยังลังเลต้องการพักผ่อน

สำหรับประเทศที่แรงงานต้องการไปทำงาน หลังจากที่กลับมาจากอิสราเอลนั้น ผู้ตรวจราชการกรม กรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า บางส่วนต้องการกลับไปทำงานที่อิสราเอล และบางส่วนต้องการไปทำงานที่เกาหลี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน ส่วนงานที่แรงงานมีต้องการคือ งานภาคการเกษตร พนักงานทั่วไป ช่าง ฝ่ายผลิต พนักงานขับรถ ซึ่งกรมจัดหางานมีตำแหน่งงานรองรับอยู่