สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 8 พ.ย. 66

สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 8 พ.ย. 66

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 8 พ.ย. 66 น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำ ภาพรวมของประเทศ วันที่ 8 พ.ย. 66 โดย สภาพอากาศวันนี้ บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่ลมตะวันออกที่พัดปกคลุมภาคตะวันออก อ่าวไทย และภาคใต้ มีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักบางแห่ง

คาดการณ์ ในช่วงวันที่ 9 - 11 พ.ย. 66 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง 

ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 7.พ.ย. 66 น้อยกว่าปี 2565 จำนวน 4,295 ล้าน ลบ.ม. สรุปได้ดังนี้

  • ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 63,965 ล้าน ลบ.ม. (78%)
  • ปริมาณน้ำใช้การ 39,797 ล้าน ลบ.ม. (69%)

เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่

เฝ้าระวังน้ำมาก 10 แห่ง

  • ภาคเหนือ : แม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม กิ่วคอหมา แม่มอก แควน้อยบำรุงแดน และบึงบอระเพ็ด
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : อุบลรัตน์ และลำปาว
  • ภาคกลาง : ป่าสักชลสิทธิ์
  • ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล 

ขอให้หน่วยงานพิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน และคำนึงถึงการเก็บกักน้ำสำหรับฤดูแล้งนี้ด้วย
 

เฝ้าระวังน้ำน้อย 2 แห่ง

  • ภาคเหนือ: สิริกิติ์ ภาคตะวันออก : คลองสียัด 

โดยขอให้หน่วยงานดำเนินการ 1) วางแผนการระบายน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด  2) ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และ  3) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยการใช้น้ำภาคการเกษตรให้ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่

น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน   

น้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 จังหวัด (กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี) รวม 9 อำเภอ 18 ตำบล 38 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 243 ครัวเรือน ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง

ประกาศ / แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ

ประกาศกรมอุทกศาสตร์ ลงวันที่ 7 พ.ย. 66 เรื่อง สภาวะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ และพื้นที่ใกล้เคียงในระหว่าง 13 - 23 พ.ย. 66 (ฉบับที่ 17/2566) เนื่องจากในวันที่ 13 - 23 พ.ย. 66 ระหว่างเวลาประมาณ 6.00 - 14.00 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ และพื้นที่ใกล้เคียง โดยคาดหมายว่า ระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.70 - 2.00 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง จึงขอให้ระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากระดับน้ำขึ้นสูงดังกล่าว และติดตามสภาวะระดับน้ำอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ กรมอุทกศาสตร์ ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้าไว้ที่ "สภาวะน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา" ในเว็บไซต์ของ กรมอุทกศาสตร์
 

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 66 นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารสภาน้ำแห่งเอเชีย ครั้งที่ 19 ( 19th Board of Council ) ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์

ที่ประชุมได้มีการจัดนิทรรศการและบรรยายด้านทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์และสาธารณรัฐเกาหลี โดยหน่วยงาน K-Water ได้นำเสนอเทคโนโลยี Cyber-digital model เพื่อการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้เครื่องมือ Web GIS-based 3D Map และ 3D Digital topographic Map พร้อมฐานข้อมูล Big Data เพื่อการคาดการณ์และพยากรณ์ อันนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำได้อย่างแม่นยำและทันท่วงที

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอการนำเทคโนโลยี A.I. มาใช้งานร่วมกับฐานข้อมูล Big Data และกล้อง CCTV เพื่อการบริหารจัดการน้ำเสีย ซึ่งรองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ยังได้มีโอกาสหารือกับผู้แทนกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐเกาหลี Dr. Kang, Dong kyun, Project Director of GTI ในประเด็นการขับเคลื่อนงานความร่วมมือระหว่าง สทนช. และ กระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐเกาหลี โดยประเทศไทยจะเร่งให้มีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิคสำหรับการศึกษาร่วมในประเด็นการตรวจสอบการรั่วไหลของระบบประปา (Water leakage detection) และเทคโนโลยีเพื่อการบริการจัดการคุณภาพน้ำ (Water Quality) กับสาธารณรัฐเกาหลีต่อไป

พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วง 1-3 วัน ไม่พบพื้นที่เสี่ยง