หมีหมา โผล่นั่งโต๊ะอาหาร อุทยานฯ แก่งกระจาน เตือนงดให้อาหาร-ไม่ควรอยู่ใกล้

หมีหมา โผล่นั่งโต๊ะอาหาร อุทยานฯ แก่งกระจาน เตือนงดให้อาหาร-ไม่ควรอยู่ใกล้

อุทยานฯ แก่งกระจาน เผยภาพ หมีหมา "ทุเรียน" อวดความน่ารักโผล่นั่งที่โต๊ะอาหาร เตือนนักท่องเที่ยว งดให้อาหารและไม่ควรอยู่ใกล้ หวั่นเสียสัญชาติญาณ

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดเผยว่า ตามที่มีภาพข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ ถ่ายภาพหมีในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โพสต์ใน Tiktok ภาพดังกล่าวเป็น หมีหมา หรือหมีคน (Malayan Sun Bear) ชื่อวิทยาศาสตร์ Helarctos malayanus พบได้ที่ หน่วย กจ.4 บ้านกร่าง ซึ่งนักท่องเที่ยวพบเห็น และสามารถถ่ายภาพได้ทุกวัน เจ้าหน้าที่ตั้งชื่อให้ว่า "น้องขนุน" มีตำหนิรูปพรรณที่บริเวณหน้าจะมีรอยแผลเป็นค่อนข้างเยอะ และจุดสีดำบริเวณสัญลักษณ์ตัวยูที่หน้าอกด้านขวา

ส่วนภาพ หมีหมา ที่พบว่ากำลังนั่งบนโต๊ะกินข้าว เจ้าหน้าที่ตั้งชื่อให้ว่า "น้องทุเรียน" เป็นหมีที่พบประจำที่ หน่วย กจ.19 เขาพะเนินทุ่ง ตำหนิรูปพรรณที่บริเวณหน้าจะมีรอยแผลเป็นค่อนข้างเยอะ และจุดสีดำบริเวณสัญลักษณ์ตัวยูที่หน้าอกด้านขวา โดยหมีทั้งสองตัว มีความคุ้นเคยกับการกางเต็นท์ของนักท่องเที่ยวและเป็นหมีนิสัยดี ไม่ดุร้าย

 

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้เตือนนักท่องเที่ยวไม่ให้นำอาหารไปไว้ในเต็นท์ และเฝ้าระวัง ไม่ให้หมีมารบกวนเต็นท์พัก และตักเตือนนักท่องเที่ยวให้อยู่ในระยะปลอดภัย ขณะถ่ายภาพ และไม่ควรให้อาหารสัตว์ป่า อันจะทำให้สัตว์ป่าเสียสัญชาติญาณการดำรงชีวิตในธรรมชาติ

สำหรับ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีข้อมูลการศึกษาวิจัยพบ การกระจายพันธุ์ ของหมีทั้งสองชนิด คือ หมีหมา (Helarctos malayanus) และหมีควาย (Ursus thibetanus) หรือที่เรียกว่า "หมีคอวี" ซึ่งมาจากลักษณะทางกายภาพที่หมีควายมีขนสีขาวบริเวณหน้าอกเป็นรูปตัววี

ส่วน หมีหมา เป็นหมีที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก ลำตัวยาวประมาณ 1 เมตร ขนตามตัวสั้นสีดำปนสีน้ำตาล ขนบริเวณอกโค้งเป็นรูปตัว U สีขาวนวล บริเวณหน้าตั้งแต่ตาไปถึงปลายจมูกสีค่อนข้างขาว หรือน้ำตาลอ่อน ปกติหมีหมาหากินกลางคืน

บางครั้งก็ออกหากินกลางวัน มักหากินเป็นคู่ อยู่ในป่าทึบ ไม่ชอบอยู่ตามเขา ดุร้ายและขึ้นต้นไม้เก่งกว่าหมีควาย มีอุปนิสัยโมโหง่าย ชอบนอนบนต้นไม้หรือตามโพรงไม้สูงๆ ไม่ชอบนอนพื้นดิน บางครั้งร้องคล้ายเสียงสุนัขเห่ากระโชก จึงเรียกว่า หมีหมา เมื่อยืน 2 ขา จะยืนตัวตรง จึงเรียกอีกชื่อว่า หมีคน

 

 

ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช