สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 26 ต.ค. 66

สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 26 ต.ค. 66

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 26 ต.ค. 66 ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนอง "กาฬสินธุ์-อุบลราชธานี" ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำ ภาพรวมของประเทศ วันที่ 26 ต.ค. 66 โดย สภาพอากาศวันนี้ มวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ทำให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ทำให้ตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักในภาคตะวันออก มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ตอนล่าง และอ่าวไทยตอนล่าง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง 

คาดการณ์ ในช่วงวันที่ 25 – 28 ต.ค. 66 ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนอง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง พายุไซโคลน “ฮอมูน” (HAMOON) ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณตอนใต้ของประเทศบังคลาเทศแล้ว คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ พายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออากาศของประเทศไทย 

ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 25 ต.ค. 66 น้อยกว่าปี 2565 จำนวน 6,052 ล้าน ลบ.ม. สรุปได้ดังนี้

  • ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 62,435 ล้าน ลบ.ม. (76%)
  • ปริมาณน้ำใช้การ 38,267 ล้าน ลบ.ม. (66%)

เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่

เฝ้าระวังน้ำมาก 9 แห่ง

  • ภาคเหนือ : แม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม กิ่วคอหมา แม่มอก และบึงบอระเพ็ด
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : หนองหาร และอุบลรัตน์
  • ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล ภาคกลาง : ป่าสักชลสิทธิ์ 

ขอให้หน่วยงานพิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน และคำนึงถึงการเก็บกักน้ำสำหรับฤดูแล้งนี้ด้วย
 

เฝ้าระวังน้ำน้อย 3 แห่ง

  • ภาคเหนือ: สิริกิติ์ และทับเสลา
  • ภาคตะวันออก : คลองสียัด 

โดยขอให้หน่วยงานดำเนินการ 1) วางแผนการระบายน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด  2) ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และ  3) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยการใช้น้ำภาคการเกษตรให้ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่

น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน   

น้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วง 1-3 วัน บริเวณ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี

สถานการณ์อุทกภัย

พื้นที่ชุมชน รวม 2 จังหวัด 12 อำเภอ 68 ตำบล 447 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,585 ครัวเรือน ดังนี้ 

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง

แนวทางการบริหารจัดการน้ำ

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดกิจกรรมเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครบรอบปีที่ 6 โดยในช่วงที่ผ่านมา สทนช. ได้ยกระดับกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารจัดทรัพยากรน้ำ โดยเดินหน้าขับเคลื่อนสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรด้านน้ำ ตั้งแต่ระดับพื้นที่ผ่านองค์กรผู้ใช้น้ำ อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด คณะกรรมการลุ่มน้ำ จนถึงระดับนโยบาย คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พร้อมทั้งได้พัฒนากลไกการกำกับดูแล อำนวยการ สั่งการจัดการน้ำทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต ผ่านการขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดูแล้ง ปี 2565/66 ภายใต้สภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 และมาตรการรับมือฤดูฝนเพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญด้วย

นอกจากนี้ ได้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางเพื่อบูรณาการหน่วยงานบริหารจัดการน้ำได้ทันต่อสถานการณ์ สามารถแจ้งเตือนและป้องเหตุกันก่อนเกิดภัย ลดผลกระทบให้น้อยที่สุด ตลอดจนพัฒนาเครื่องมือการบริหารจัดการน้ำ

กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 30 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง เร่งสูบระบายน้ำท่วมขังชุมชนท่าบ้งมั่ง - ชุมชนเกตุแก้ว ที่บริเวณประตูระบายน้ำข้างวัดเสนาวงศ์ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อแก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เนื่องจากน้ำท่วมขังในเขตชุมชนที่พักอาศัย จำนวน 2 ชุมชน 388 ครัวเรือน 1,263 คน โดยเริ่มสูบในวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ซึ่งจะดำเนินการสูบจนกว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติ