ร้านอาหาร ระวังลูกค้าปลอม แนะ 4 วิธีป้องกัน เตือนก่อนโอน

ร้านอาหาร ระวังลูกค้าปลอม แนะ 4 วิธีป้องกัน เตือนก่อนโอน

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย ผู้ประกอบการร้านอาหาร ระวังลูกค้าปลอมหลากหลายรูปแบบ ทั้งรูปแบบเดิมและแสงหาวิธีการใหม่ ๆลวงประชาชนต่อเนื่อง เตือนก่อนโอนต้องตรวจสอบให้ดี อย่าไว้ใจบุคคลที่ไม่เคยรู้จัก พร้อมฝากผู้ประกอบการร้านอาหารอาจถูกลวง 4 วิธี

ตำรวจเตือนภัย มิจฉาชีพมาในหลายรูปแบบ โดยล่าสุดทางด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นลูกค้าปลอมโทรศัพท์ไปยังผู้ประกอบการร้านอาหารแล้วหลอกลวงให้โอนเงินเป็นค่ารักษาพยาบาล

เนื่องจากได้ไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารของผู้เสียหายแล้วตรวจพบว่ามีฝอยขัดหม้อติดอยู่ที่ลำคอนั้น การหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว เป็นการหลอกลวงในรูปแบบเดิมๆ นอกจากนี้แล้วยังมีการหลอกลวงในลักษณะอื่นๆ ที่ใกล้เคียง และเกิดเหตุขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ดังนี้

แผนประทุษกรรมที่ 1 มิจฉาชีพโทรศัพท์ไปยังผู้ประกอบการร้านค้าอ้างว่าจะสั่งอาหารกล่อง หรือจะขอสำรองโต๊ะอาหารพร้อมกับสั่งอาหารให้กับบุคคลสำคัญ หรือพนักงานบริษัทจำนวนมาก แต่กลับหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อซื้ออาหาร และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากร้านค้าอื่นซึ่งเป็นร้านค้าปลอม อ้างว่าจะให้เงินส่วนต่างเป็นค่าตอบแทน

แผนประทุษกรรมที่ 2 มิจฉาชีพโทรศัพท์ไปยังผู้ร้านอาหารแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานพระราชวัง แจ้งว่าจะมีบุคคลสำคัญมารับประทานอาหารที่ร้าน หลอกลวงเรียกเก็บค่าจัดเตรียมสถานที่ ค่าเข็มที่ระลึก ค่าถ่ายภาพ เป็นต้น

แผนประทุษกรรมที่ 3 มิจฉาชีพโทรศัพท์ไปยังผู้ประกอบการร้านค้าอ้างว่าได้ทำการสั่งอาหารออนไลน์จากร้าน แต่ได้รับอาหารไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หลอกลวงขอเงินคืนเพื่อชดใช้ค่าเสียหาย

ที่ผ่านมา พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนให้รู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันมิจฉาชีพมักแสวงหาวิธีการใหม่ๆ มาใช้ในการหลอกลวงประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ความไม่รู้ ความโลภ และความกลัวของประชาชนเป็นเครื่องมือ ประกอบกับการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยเพื่อสร้างความน่าเชื่อ เพราะฉะนั้นก่อนการโอนเงินไปให้บุคคลใด ควรระมัดระวังและตรวจสอบให้ดีเสียก่อน เพราะท่านอาจกำลังจะตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพดังกล่าว รวมไปถึงอย่าไว้ใจบุคคลที่ไม่เคยรู้จัก และไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน เสียเวลาตรวจสอบดีกว่าเสียเงินให้มิจฉาชีพ

  • วิธีการป้องกันการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว 4 ข้อ ดังนี้

1. ผู้ประกอบการร้านอาหาร ควรระมัดระวังการรับสายโทรศัพท์จากหมายเลขที่ไม่คุ้นเคย ไม่เคยมีประวัติการสั่งซื้ออาหาร มาก่อน มีการแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ มีการเร่งรัดให้ตัดสินใจ เร่งรีบให้โอนเงิน โดยการข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว

2. ระวังหลักฐานที่มิจฉาชีพสร้างปลอมขึ้นมา เช่น หลักฐานการโอนเงิน โดยการใช้บริการแจ้งเตือนอัตโนมัติ (SMS Alert)ผ่านโทรศัพท์มือถือของสถาบันการเงิน หรือธนาคารต่างๆ หลักฐานทางการแพทย์ ต้องตรวจสอบก่อนว่าเป็นสถานพยาบาลที่น่าเชื่อหรือไม่ สอบถามโดยตรงไปยังโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ออกใบรับรองนั้น เป็นต้น

3.ตรวจสอบบัญชีที่รับโอนเงินทุกครั้งอย่างละเอียดรอบคอบ โดยนำชื่อสกุลเจ้าของบัญชี หมายเลขบัญชี ไปตรวจสอบในเว็บไซต์การค้นหาทั่วไป หรือที่ https://www.blacklistseller.com ว่ามีประวัติการฉ้อโกงหลอกลวงหรือไม่

4.หากมีการให้โอนเงินเพื่อจ่ายค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่ารักษาพยาบาล หรือค่าอุปกรณ์ใดๆ มีการอ้างว่าจะให้เงินส่วนต่าง หรือให้สิทธิพิเศษอื่นใด หรืออ้างบุคคลสำคัญ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ ห้ามโอนเงินโดยเด็ดขาด