ปภ. อัปเดต 'น้ำท่วม' 5 จังหวัด 19 อำเภอ เร่งคลี่คลาย - ช่วยเหลือประชาชน

ปภ. อัปเดต 'น้ำท่วม' 5 จังหวัด 19 อำเภอ เร่งคลี่คลาย - ช่วยเหลือประชาชน

ปภ.รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย "น้ำท่วม" ในพื้นที่ 5 จังหวัด 19 อำเภอ เร่งคลี่คลายสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชน

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2566 เวลา 08.30 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ระหว่างวันที่ 26 กันยายน - 23 ตุลาคม 2566 เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 38 จังหวัด รวม 159 อำเภอ 592 ตำบล 2,987 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 62,498 ครัวเรือน

ปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 23 ต.ค. 66 เวลา 06.00 น.) ยังคงมีสถานการณ์ "น้ำท่วม" ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี และนครศรีธรรมราช รวม 19 อำเภอ 81 ตำบล 477 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,769 ครัวเรือน แยกเป็น

1. พิษณุโลก น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอบางระกำ รวม 6 ตำบล 19 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 144 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

2. ร้อยเอ็ด น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเชียงขวัญ อำเภอทุ่งเขาหลวง และอำเภอจังหาร รวม 4 ตำบล 5 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 297 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

ปภ. อัปเดต \'น้ำท่วม\' 5 จังหวัด 19 อำเภอ เร่งคลี่คลาย - ช่วยเหลือประชาชน

3. กาฬสินธุ์ น้ำท่วมในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอร่องคำ อำเภอฆ้องชัย อำเภอยางตลาด อำเภอกมลาไสย อำเภอสามชัย อำเภอท่าคันโท อำเภอหนองกุงศรี อำเภอสหัสขันธ์ และอำเภอห้วยเม็ก รวม 59 ตำบล 399 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,170 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

4. อุบลราชธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ และอำเภอสว่างวีระวงศ์ รวม 10 ตำบล 49 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,093 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

5. นครศรีธรรมราช น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพิปูน และอำเภอถ้ำพรรณรา รวม 2 ตำบล 5 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 65 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

ปภ. อัปเดต \'น้ำท่วม\' 5 จังหวัด 19 อำเภอ เร่งคลี่คลาย - ช่วยเหลือประชาชน

ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงทุกจังหวัดสำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล เครื่องสูบน้ำ รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถผลิตน้ำดื่ม รถประกอบอาหาร เพื่อแก้ไขปัญหา เร่งระบายน้ำ และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 

สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป

ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT”