'พยากรณ์ฝนสะสม' 17-26 ต.ค.66 ไทยตอนบนอากาศเริ่มเย็น - มีฝนตกหนักบางแห่ง

'พยากรณ์ฝนสะสม' 17-26 ต.ค.66 ไทยตอนบนอากาศเริ่มเย็น - มีฝนตกหนักบางแห่ง

'พยากรณ์ฝนสะสม' ระหว่างวันที่ 17-26 ต.ค.66 ไทยตอนบนอากาศเริ่มเย็นในตอนเช้า และมีฝนตกหนักบางแห่ง เช็กเลยพยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า

กรมอุตุนิยมวิทยา 'พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน' 10 วันล่วงหน้า ระหว่างวันที่ 17 - 26 ต.ค.66 อัปเดตจากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF

 

 

'พยากรณ์ฝนสะสม' ช่วงวันที่ 17-19 ต.ค.66 มวลอากาศเย็น (ความกดอากาศสูง) แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลมหนาวเริ่มพัดปกคลุม อากาศเริ่มเย็นลงในตอนเช้า ฝนน้อยลงบริเวณประเทศไทยตอนบน ฝนยังเกิดขึ้นด้านตะวันตกของภาคเหนือ และภาคกลาง ส่วนภาคใต้และในอ่าวไทยยังมีฝน เนื่องจากร่องมรสุมได้เลื่อนลงไปพาดผ่านภาคใต้ตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน (ชายฝั่งทางด้านตะวันออกของเวียดนาม) ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้และอ่าวไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย 

 

ส่วนช่วงวันที่ 20 - 26 ต.ค.66 มวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะอ่อนกำลังลง ทำให้มีลมตะวันออก ตะวันออกเฉียงใต้ พัดแทรกเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน (ความชื้นสูง) ทำให้ภาคเหนือ ภาคอีสาน มีฝนเกิดขึ้นได้ในช่วงแรกๆ ส่วนใหญ่ยังเป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง (สีฟ้าถึงสีเขียว) ยังต้องระมัดระวังสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงในระยะนี้ 

 

ทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

 

\'พยากรณ์ฝนสะสม\' 17-26 ต.ค.66 ไทยตอนบนอากาศเริ่มเย็น - มีฝนตกหนักบางแห่ง

 

 

สำหรับ 'พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า' ในช่วงวันที่ 17 - 19 ต.ค.66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ตะวันออก และอ่าวไทย เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ลักษณะเช่นนี้ยังคงทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง 

 

ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 23 ต.ค.66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ในขณะที่ร่องมรสุมเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค 

 

สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย โดยบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตลอดช่วง 

 

ข้อควรระวัง : ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ฝนตกต่อเนื่องและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ตลอดช่วง 

 

ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 22 ต.ค.66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่จะเกิดขึ้น 

 

สถานการณ์"แผ่นดินไหว"ในช่วงวันที่ 16 - 17 ต.ค.66 ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 2.0 มีศูนย์กลางอยู่ที่ ต.ป่าก่อดำ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด