ชาวบ้านไฟเขียวผันน้ำเข้า 10 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา จัดจราจรทางน้ำ รับมือน้ำหลาก

ชาวบ้านไฟเขียวผันน้ำเข้า 10 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา จัดจราจรทางน้ำ รับมือน้ำหลาก

สทนช. เตรียมรับน้ำเหนือไหลหลากลงลุ่มเจ้าพระยา ผันน้ำออกฝั่งตะวันออกและตะวันตก ชาวบ้านไฟเขียวปล่อยน้ำเข้า 10 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง การันตีน้ำจะไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 1,800 ลบ.ม./วินาที เผยปลายฤดูฝนตกหนัก ทำให้มีน้ำต้นทุนรับมือเอลนีโญเพิ่มขึ้น

วันนี้ (16 ต.ค. 66) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ขณะนี้ได้เข้าสู่ช่วงปลายฤดูฝนแล้ว ร่องมรสุมได้เลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวมีฝนตกต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะเป็นฝนรอบสุดท้าย ผนวกกับมีมวลน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน โดยเฉพาะจากแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน เริ่มไหลลงมาในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างแล้ว อาจจะส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมในบางพื้นที่ ซึ่ง สทนช. ร่วมกับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้วางแผนบริหารจัดการและจัดการจราจรทางน้ำ เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยใช้เครื่องมือชลประทานที่มีอยู่ในพื้นที่ตอนบนหน่วงน้ำไว้ แล้วค่อยๆ ปล่อยลงมาพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พร้อมตัดยอดน้ำผันเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งบางระกำและบึงบอระเพ็ดให้ได้มากที่สุด จากนั้นก็จะผันมวลน้ำส่วนหนึ่งออกฝั่งตะวันออกผ่านคลองชัยนาท-ป่าสัก และฝั่งตะวันตกผ่านคลองมะขามเฒ่า แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย เพื่อที่จะควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้เกิน 1,800 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ตามแผนที่วางไว้ 

ชาวบ้านไฟเขียวผันน้ำเข้า 10 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา จัดจราจรทางน้ำ รับมือน้ำหลาก
 

 “ขณะนี้ทุ่งบางระกำสามารถตัดยอดน้ำเข้าไปกักเก็บไว้เต็มทุ่งได้แล้วประมาณ 400 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตามจากการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่อาจจะเพิ่มปริมาณน้ำเข้าทุ่งบางระกำขึ้นอีกประมาณ 10-20 เซนติเมตร (ซม.) ส่วนบึงบอระเพ็ดสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้แล้วประมาณ 83 ล้าน ลบ.ม. กำลังหาช่องทางที่จะนำน้ำเข้าไปกักเก็บเพิ่มขึ้นให้ได้มากที่สุดเต็มศักยภาพรวมกันได้ประมาณกว่า 100 ล้าน ลบ.ม ซึ่งจะเป็นผลดีทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนในการรับมือสภาวะเอลนีโญที่เกิดขึ้นได้เพิ่มขึ้น” เลขาธิการ สทนช. กล่าว 

นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมและสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้ง 10 ทุ่ง ประกอบด้วย ทุ่งผักไห่-ทุ่งป่าโมก ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบันลือ-พระพิมล ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งบางกุ่ม และทุ่งบางกุ้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว ปรากฏว่า ประชาชนให้สัญญาที่จะไม่ทำนาปีต่อเนื่อง และยินดีที่จะรับน้ำในระดับความสูงประมาณ 20-30 ซม. แต่จะต้องไม่ให้ท่วมถนนที่สัญจรเข้า-ออกหมู่บ้าน โดยไม่เรียกร้องค่าชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น คาดว่าจะสามารถรับน้ำได้รวมกันประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม. โดยปัจจุบันเริ่มทยอยรับน้ำเข้าทุ่งดังกล่าวแล้ว 

ชาวบ้านไฟเขียวผันน้ำเข้า 10 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา จัดจราจรทางน้ำ รับมือน้ำหลาก

ทั้งนี้ ในการรับน้ำเข้าไปกักเก็บไว้ในทุ่งนั้น นอกจากจะช่วยตัดยอดน้ำ บรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่สำคัญๆ แล้ว ยังช่วยเติมสารอาหารสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมี คุณภาพน้ำในพื้นที่นาดีขึ้น ช่วยตัดวงจรการระบาดของแมลงศัตรูข้าว ทำให้ต้นทุนการปลูกข้าวในฤดูกาลถัดไปลดลง รวมทั้ง ยังสร้างอาชีพเสริมจากการทำประมงน้ำจืดอีกด้วย 

ชาวบ้านไฟเขียวผันน้ำเข้า 10 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา จัดจราจรทางน้ำ รับมือน้ำหลาก

เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้ายว่า สถานการณ์ฝนตกในช่วงปลายฤดูนี้ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้า 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แต่ก็ยังต่ำกว่าค่าปกติ คาดว่าหลังสิ้นฤดูฝน ณ 1 พ.ย. 66 จะมีปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักรวม 16,758 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 67% ของปริมาณน้ำเก็บกัก ดังนั้น ยังมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพราะจะต้องสำรองปริมาณน้ำต้นทุนส่วนหนึ่งประมาณ 3,000 ล้าน ลบ.ม. ไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปีหน้า และรองรับสภาวะเอลนีโญที่เกิดขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามปริมาณน้ำที่มีอยู่จะเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การรักษาไม้ยืนต้นและพืชที่ใช้น้ำน้อย ตลอดช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 อย่างแน่นอน