ความว้าวุ่นมั่วซั่วกับ “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์”

ความว้าวุ่นมั่วซั่วกับ “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์”

เหมือนบ้านเราจะใช้คำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” กันอย่างฟุ่มเฟือย และทำให้เกิดความไขว้เขวกันอย่างมาก บางคนโดยเฉพาะคนในรัฐบาลพยายามพูดเพื่อให้ดูทันสมัย ทั้งที่อาจจะไม่เข้าใจว่ามันคืออะไรอย่างถ่องแท้ และต้องทุ่มเทกันขนาดไหนถึงจะทำซอฟต์พาวเวอร์ที่ขายได้ในระดับสากล

ในที่สุดจึงได้แต่พูดๆ กันไปแล้วซอฟต์พาวเวอร์ไทยก็ไม่ถึงไหนเสียที นโยบายของพรรคเพื่อไทยแกนนำรัฐบาล ที่ออกมาจากปาก รมว.วัฒนธรรมที่ทำเอาคนงงไปหมด ในที่สุดก็เฉลยออกมาว่า “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” นั้นไม่ใช่ซอฟต์พาวเวอร์และไม่ควรจะเกี่ยวอะไรกับกระทรวงนี้เลย

เพราะหัวหน้าพรรคตัวจริงออกมาพูดว่าที่แท้จริงต้องการจะสื่อว่าเป็น “1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ” คือนโยบายที่จะทำให้คนยกระดับแรงงานของตัวเองให้มีทักษะสูงขึ้น

อย่างน้อยหนึ่งคนต่อครอบครัว จะได้มีรายได้มากขึ้น จากวันละ 300-400 บาท กลายเป็น 1,000-2,000 บาทอะไรทำนองนั้น เป็นความคิดของลูกสาว ให้สมัครทางออนไลน์ ให้คะแนนตัวเอง คัดเลือกเป็นขั้นๆ แล้วจัดอบรม (เหมือนรายการไทยแลนด์ก็อตทาเล้นต์- อันนี้ผู้เขียนอนุมานเอง)

ฟังน่าสนุกดี ซึ่งก็ควรจะเป็นหน้าที่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงศึกษา หรือว่ากระทรวงมหาดไทย มากกว่าที่จะเป็นกระทรวงวัฒนธรรม

อีกอย่างเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ไม่มีอะไรที่จะไปผูกติดกับครอบครัว หากจะทำจริงๆ ต้องเป็นนโยบายระดับชาติ ที่ภาครัฐต้องบูรณาการกับภาคเอกชนเป็นเนื้อเดียวในการผลักดันให้ความเป็นไทยในแง่มุมต่างๆ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

จะด้วยวิธีการใดก็ตาม อะไรเป็นจุดแข็ง จะหาทางนำเสนออย่างไร ผ่านสื่อ ผ่านคน ผ่านนโยบาย ผ่านองค์กร ผ่านเครือข่าย และทรัพยากรอย่างไร แล้วลงมือผลักดันให้เป็นเนื้อเดียว ไม่ใช่ต่างคนต่างทำแบบทุกวันนี้

กลับมาที่เรื่อง “1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ” นับว่าเป็นความพยายามที่ดี แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เป็นการ upskill คนทำงานในอาชีพต่างๆ ให้มีฝีมือดีขึ้น ที่ทำๆ กันอยู่ก็เน้นการฝึกอบรมเป็นหลัก อบรมแล้วก็แล้วกัน จะไปคิดทำให้เป็นอาชีพ จะพัฒนาให้ดีขึ้นนั้นจะทำอย่างไรต้องคิดต่อด้วย

พรรคบอกว่าจะใช้วิธีนี้สร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน ให้มีรายได้อย่างน้อย 2 แสนต่อปี ซึ่งฟังแล้วเคลิบเคลิ้มดี

แต่ค่าแรงคนจะพุ่งพรวดพราดแบบนั้นได้ก็ต้องอยู่ที่อุปสงค์อุปทานของประเภทแรงงานด้วย การจะสร้างแรงงานประเภททักษะสูงมากๆ ไม่ใช่ทำแบบเหวี่ยงแห มีองค์ประกอบอีกมากที่ต้องคิด และที่สำคัญต้องใช้เวลา

ความว้าวุ่นมั่วซั่วกับ “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์”

รัฐมนตรีบอกว่าจะสร้าง “ศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์” ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านถึงระดับประเทศกันเลยทีเดียวเพื่อรองรับ “1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ”  ซึ่งที่จริงจะเรียกให้ถูกควรเป็นศูนย์ฝึกอาชีพมากกว่า

เรียกว่าศูนย์ฝึกบ่มเพาะนั้นไม่ถูกต้อง เพราะคำนี้มาจากคำว่า Incubator เป็นสถานที่ซึ่งอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจระยะตั้งไข่ได้เติบโตด้วยการสนับสนุนสถานที่ทำงาน อุปกรณ์เครื่องมือ และผู้เชี่ยวชาญต่างๆ จากรัฐ

โดยผู้ประกอบการไม่ต้องเสียเงินในระยะแรก จนเมื่อกิจการแข็งแรงแล้วค่อยออกไปเติบโตด้วยตัวเองต่อไป จึงเป็นคนละเรื่องกับศูนย์ฝึกอาชีพที่รัฐมนตรีเข้าใจ

ศูนย์ฝึกอาชีพนั้นมีอยู่ทั่วไปหมด จึงไม่ควรคิดจะตั้งใหม่เพียงเพื่อจะหาทางใช้งบประมาณ โรงเรียน ศาลาวัด ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอามาใช้ได้ทั้งนั้น หรืออบรมออนไลน์ก็ได้

ทุกวันนี้ตามที่ทำการเขตของ กทม.ก็มีโรงเรียนฝึกอาชีพอยู่แล้ว เคยติดตามกันบ้างไหมว่าฝึกแล้วช่วย upskill ทำให้คนที่มาฝึกมีรายได้ขึ้นแบบติดจรวดจริงหรือไม่

เพราะมีแต่หลักสูตรเดิมๆ อย่างตัดผม เบเกอรี่ ดอกไม้ประดิษฐ์ ตัดเย็บเสื้อผ้า ชงกาแฟ หากไม่ปรับปรุงทั้งวิธีคิดวิธีทำก็ยากที่จะสร้างรายได้แบบที่พรรคเพื่อไทยฝันไว้

จะ “1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ” หรือ “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” หรือที่มั่วกว่านั้นคือคำที่ใช้ในการแถลงกับรัฐสภากลายเป็น “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์สกิล” เลยยิ่งงงเข้าไปใหญ่ ดูผิดฝาผิดตัว ดูเป็นการละลายงบโดยที่เป้าหมายก็ยังไม่ชัดเจน ดังนั้นเอาให้ชัดๆ ก่อนดีไหมว่าจะทำอะไรแน่

ความว้าวุ่นมั่วซั่วกับ “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์”

สรุปว่า

1.ขอให้พูดชัดๆ ว่ากำลังจะทำ“1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ” หรือ 1 ทักษะ อย่าเอาเรื่องซอฟต์พาวเวอร์มาปนเปมั่วซั่วเพราะจะพังทั้งสองอย่าง

2.อย่าเที่ยวตั้งคนหรือหน่วยงานแบบละลายงบอย่างที่เคยทำ

3.อย่าทำอะไรแบบเหวี่ยงแห บางเรื่อง บางเซ็กเตอร์เท่านั้นที่มีโอกาสเป็นซอฟต์พาวเวอร์

4.อย่าฝันหวานว่าจะสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่งและสร้างรายได้อย่างที่คิดจากแค่การฝึกอบรมคน

กระทรวงวัฒนธรรมเองต้องเข้าใจบทบาทตัวเอง และโฟกัสในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์อย่างจริงจังและอย่างเข้าใจจริงๆ จะได้นำเอาซอฟต์พาวเวอร์ไปออกไปสร้างความปังให้เหมือนประเทศอื่นๆ บ้าง แต่ดูทรงแล้วก็คงยาก เพราะเริ่มต้นก็ตีความเข้ารกเข้าพงเสียแล้ว

ความว้าวุ่นมั่วซั่วคงบังเกิดกับซอฟต์พาวเวอร์ไทยอย่างไม่ต้องสงสัย และจะกลายเป็นแค่ของเล่นของลูกสาวหัวหน้าพรรคตัวจริง ยังจำกันได้ไหมว่า “กรุงเทพเมืองแฟชั่น” ที่ละลายงบไปสองสามพันล้านเมื่อปี 2547 นั้นพรรคไหนเป็นคนทำ.