เลิกทำงานหนักที่ไม่ได้ผล | บวร ปภัสราทร

เลิกทำงานหนักที่ไม่ได้ผล | บวร ปภัสราทร

การประกาศว่า ตนเองทำงานหนัก กลายเป็นสัญลักษณ์ของการตั้งอกตั้งใจทำงานไปโดยปริยาย แต่ความจริงนั้นการทำงานหนักไม่ได้ประกันว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นแต่ประการใด

แม้ว่าการทำงานหนักจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้น ขี้เกียจทำงานแล้วพบเจอความสำเร็จ ไม่น่าจะเป็นไปได้ในภาวะปกติ 

แต่ทำงานหนักโดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าที่ทำงานหนักอยู่นั้นต้องการให้เกิดผลลัพธ์ใดขึ้นมาบ้าง ไม่ต่างไปจากการวิ่งเป็นวงกลม ซึ่งไม่ว่าจะวิ่งเร็วขึ้นเพียงใด ขยันวิ่งแค่ไหน วิ่งแล้วก็วนกลับมาที่เดิมอยู่ดี 

อย่าทำตนเป็นสาวกของลัทธิบูชางานหนัก ที่ไม่สำนึกว่าขยันวิ่งเป็นวงกลมแค่ไหนก็ไม่ได้พาใครไปที่ไหนได้เลย 

ถ้าจะทุ่มเททำงานหนักในเรื่องใด ตอบให้ได้ก่อนว่างานหนักนั้นจะนำไปสู่ความสำเร็จใดบ้าง ถ้าเป้าหมายไม่ชัด ขยันแล้วจะเหนื่อยเปล่า สิ้นเปลืองเรี่ยวแรงไปโดยไม่จำเป็น ดูให้มั่นใจว่าเป้าหมายความสำเร็จที่อยากได้นั้น

ถ้าขยันทำงานหนักอย่างจริงจังแล้ว มีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นได้มากขึ้นจริงๆ หรือว่าเป็นงานที่ขยันแค่ไหนก็ไม่ประสบความสำเร็จ 

ถ้าไม่ได้ทรัพยากรบางอย่างที่ได้มาตามกรอบเวลาที่เราไปปรับเปลี่ยนไม่ได้ ขยันทำงานหนักไปในช่วงเวลาที่ยังไม่มีทรัพยากรที่ต้องใช้ในการทำงาน งานหนักที่ทำไปในระหว่างนั้นเป็นแค่ทำงานเพื่อแสดงว่ามีงานทำ แต่เป็นงานหนักที่ไม่มีผลใดๆ กับความสำเร็จที่ต้องการให้เกิดขึ้น

 ถ้าจะเดินทางไปเที่ยวที่ไหน โดยไม่อยากให้เสียเที่ยว ก็ต้องวางแผนการเดินทางไว้ล่วงหน้า วางแผนว่าจะไปพักที่ไหน จะไปเที่ยวที่ไหนบ้าง เดินทางกันอย่างไร อาหารการกินจะตระเตรียมอย่างไรบ้าง 

ดังนั้น ก่อนที่จะทำงานหนัก ควรจะวางแผนการทำงานให้แน่ชัดว่าขั้นตอนไปสู่การบรรลุเป้าหมายนั้นเป็นอย่างไร จะลงมือทำขั้นตอนเหล่านั้นได้ในช่วงเวลาใดได้บ้าง

ควรแบ่งเป้าหมายที่อยากไปถึงนั้น ออกเป็นเป้าหมายย่อยๆ หลายเป้าหมายที่สอดคล้องกับขั้นตอนแต่ละขั้นตอนที่ได้กำหนดไว้ จะได้รู้ว่าขยันทำงานหนักในขั้นตอนใดแล้วได้การงานอะไรขึ้นมาบ้าง

อย่าใช้ความสมบูรณ์แบบของผลงานที่จะเกิดขึ้นเป็นข้ออ้างในการทำงานหนักต่อเนื่องไปเรื่อยๆ 

การงานส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการความสมบูรณ์แบบ แต่ต้องการให้งานแล้วเสร็จตามเวลาที่คาดหวัง ลดการทำงานหนักลงได้หากรู้จักแยกแยะว่า “ทำแค่นี้ ผลงานที่ได้ก็ดีพอแล้ว” หรือ “ทำไปถึงนั้นคือความสมบูรณ์แบบที่ไม่จำเป็น” 

แต่ที่น่าระวังไว้คือมีการอ้างความสมบูรณ์แบบ เพื่อให้ตนเองยังมีงานทำอยู่ต่อไป จะได้ไม่ต้องไปรับภาระการงานใหม่ที่ควรจะต้องทำ งานที่ทำให้คนอื่นเห็นว่าหนักนั้น แท้จริงจึงเป็นแค่กุศโลบายในการที่ไม่ต้องขยับไปทำงานอื่นเท่านั้น งานที่ทำให้ดูว่าหนักเพื่อบังหน้าความขี้เกียจ

บ่อยครั้งที่งานหนักในวันวานยังคงเป็นงานหนักในวันนี้ เพราะคนทำไม่ยอมยกระดับขีดความสามารถในการทำงานนั้น 

ห้าหกปีก่อนเคยทำงานนั้นอย่างไร วันนี้ก็ยังทำแบบนั้น ไม่ยอมคิดทบทวนว่าขั้นตอนไหนที่สามารถลดทอนลงไปได้ ด้วยเกรงว่าถ้าไปปรับเปลี่ยนขั้นตอนการงานนั้นให้ลดน้อยถอยลงแล้ว ตนเองจะดูว่ามีงานลดลง มีความสำคัญลดลง 

ความรู้สึกทำนองนี้มาจากรากฐานความเชื่อยุคโบราณในเรื่องทาสที่ต้องทำงานหนักไว้ก่อน ทาสทำงานหนักโดยไม่ต้องค้นหาหนทางทำงานให้เสร็จเร็วขึ้น เพราะงานเดิมเสร็จ งานใหม่ก็มาทดแทน เลิกเชื่อแบบทาสแล้วหันมาหาทางทำงานให้เสร็จได้ง่ายขึ้น ขั้นตอนไหนที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยได้ก็รีบนำมาใช้ 

งานสำเร็จเร็วขึ้นไม่ได้แปลว่าเรามีคุณค่าน้อยลง แต่แปลว่าเราทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น 

งานสำเร็จโดยตัดทอนส่วนที่ไม่ได้เป็นความต้องการที่แท้จริงของการงานนั้นออกไป จะให้บริการเรื่องใดกับใคร แล้วตัดขั้นตอนที่คนรับบริการไม่รู้สึกว่าได้ประโยชน์ใดๆ ออกไป

งานนั้นก็ไม่ต้องทำงานหนักเหมือนเดิม เราทำงานหนักน้อยลง แต่ประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจที่ทำงานอย่างชาญฉลาดมากขึ้น ไม่ใช่เรื่องที่น่าอับอายที่ทำงานหนักน้อยลง

ที่สำคัญคืองานไหนให้คนอื่นทำแทนได้ ก็ปล่อยออกไปบ้าง ไม่ฉลาดเลยที่จะกอดงานไว้แน่นเพียงเพื่อให้คนอื่นเห็นว่าฉันสำคัญเพราะฉันมีงานล้นมือ.