“สับสนอลหม่าน กับการเลือกนายกรัฐมนตรี”

“สับสนอลหม่าน กับการเลือกนายกรัฐมนตรี”

อุตส่าห์รอกันมานาน แต่การเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ถูกเลื่อนออกไปอีกจนได้

การเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องสำคัญ และการตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญๆนั้น ควรจะต้องมี “เป้าประสงค์” ที่ชัดเจน “ข้อมูล” ต้องพร้อม “การวิเคราะห์” ต้องลึก และ “ผลกระทบ” ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ต้องได้รับการพิจารณา

รวมทั้งมีการ “เปรียบเทียบทางเลือก” และตัดสินใจ “อย่างมีเหตุผล” อีกด้วย

แต่รู้ไหมว่า นักวิชาการคนหนึ่ง บอกว่าการตัดสินใจของคนในภาครัฐบาล โดยทั่วไปเขาไม่ได้ใช้วิธีการตัดสินใจอย่างเป็นระบบ เช่นนั้นกันหรอก เขาตัดสินใจแบบ “Muddle Through” ต่างหาก

Charles Lindblom ได้เขียนบทความเรื่อง “The Science of Muddling Through” เมื่อปี 1959 และบทความนี้ ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในบทความ “คลาสสิก” ที่นักบริหารจะต้องอ่าน

“Muddle” แปลว่า ผ่านไปเร็วๆ ไม่ชัดเจน สับสน ยุ่งเหยิง หรือถ้าใช้คำแรงๆอาจแปลว่า มั่ว ก็ได้

ด้วยความหมายดังกล่าว ผมจึงขอแปลชื่อบทความนี้ The Science of Muddling Through” เป็นภาษาไทยให้จำได้ง่ายๆว่า “สับสนศาสตร์” ก็แล้วกัน

Lindblom อธิบายว่าคนในภาครัฐมีเรื่องที่จะต้องพิจารณาและต้องตัดสินใจมากมาย ดังนั้นพวกเขาจึงไม่มีเวลาตัดสินใจ อย่างเป็นระบบ

 

ในทางปฏิบัติ เขาใช้วิธีมอง “ภาพใกล้ๆ” เท่านั้นเอง โดยเอาภาพใกล้ๆที่เห็นอยู่ปัจจุบัน ตั้งไว้เป็นตัวเปรียบเทียบ แล้วก็ตัดสินใจเลือกทำในสิ่งที่ จะไม่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก การตัดสินใจแบบนี้มันง่ายและสะดวกกว่า

พูดให้เห็นชัดอีกหน่อยก็คือ ใช้วิธีดู “กิ่งไม้ 2-3 กิ่ง” ที่อยู่ใกล้ๆ แล้วก็ตัดสินใจเลือกทำในสิ่งที่ไม่ห่างไกลจากกิ่งไม้เดิม (branches) เท่าใดนัก วิธีนี้มันง่ายกว่าและเร็วกว่า การตัดสินใจอย่างเป็นระบบ ซึ่งวิธีหลัง จะต้องถอยออกไปดูต้นไม้ทั้งต้น (whole tree) และดูรากไม้ (roots) ด้วย

แต่การตัดสินใจด้วยวิธี Muddle Through คือแบบยุ่งเหยิง สับสน ดังที่กล่าวถึง ก็น่าจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีนะครับ อาจจะติดลบด้วยซ้ำไป หรืออย่างเก่งก็ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก เพราะวนเวียนอยู่กับการยึดกิ่งไม้เพียงไม่กี่กิ่ง เป็นตัวเปรียบเทียบ เท่านั้นเอง

แต่ Lindblom กลับบอกว่า การ Muddle Through ก็เป็นวิธีที่ปฏิบัติที่ทำกันอยู่จริง สะดวก และมีประสิทธิภาพทีเดียว แม้ผลลัพธ์จะไม่ได้ดีขึ้นมากมาย หรือไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก (incremental) แต่ก็เป็นการตัดสินใจที่เร็ว และได้ผลลัพธ์พอสมควร

สรุปว่า Lindblom ก็ยอมรับ “สับสนศาสตร์” ว่ามันเป็นวิธีตัดสินใจที่ ใช้ได้ ปฏิบัติได้ แต่ทำไมเขาจึงเลือกใช้คำว่า “Muddle” คือหมายถึง สับสน ยุ่งเหยิง หรือ มั่ว ก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะฟังแล้วติดลบ

แต่ส่วนตัวผม ก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการตัดสินใจ ที่คาดหวังผลลัพธ์ที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง เพียงครั้งละเล็กน้อยเท่านั้น เพราะมันจะไม่นำพาประเทศไปไกล ถ้าวนเวียนอยู่กับกิ่งไม้ 2-3 กิ่งเท่านั้นเอง

แต่ถ้าใช้วิธีตัดสินใจอย่างเป็นระบบ ด้วยการถอยออกมาดูต้นไม้ทั้งต้น แล้วค่อยๆ เอกซเรย์ดูลำต้น ดูระบบราก ฯลฯ วิธีนี้อาจจะดี แต่ก็เป็นไปได้ว่าจะทำให้เยิ่นเย้อ ไม่ทันกาล และวนไปเวียนมา ทำให้เชื่องช้า และตัดสินใจไม่ได้สักที

บางทีเชื่องช้าจนอาจทำให้เกิดปัญหาสะสม และวุ่นวายกันไปทั่ว แล้วก็ต้องกลับมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่กันอีก เห็นแบบนี้มาหลายรอบแล้วนะ…

อ้าว…แล้วอยู่ดีๆ ไปยังไงมายังไง ผมวนมาถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ ได้ล่ะเนี่ย!

เอาเป็นว่า วันนี้ถึงแม้จะไม่เลือกนายกรัฐมนตรีกันแล้ว แต่ก็จะมีการอภิปรายข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 กันแหละ และอีกไม่นานเกินรอ ก็จะต้องมาลุ้นกันอีกว่า รัฐสภาจะตัดสินใจเลือกใครเป็นนายกฯ

พวกท่านทั้งหลาย จะใช้วิธีเลือกนายกรัฐมนตรี ด้วยการตัดสินใจอย่างเป็นระบบ หรือด้วยวิธี “Muddle Through” เราก็ต้องคอยติดตาม

แต่ดูรูปการณ์ที่ผ่านมา จนถึงเวลานี้ มันชัดเจนเลยครับว่า อะไรๆก็สับสันวุ่นวายมาตลอด ดังนั้น มันจะต้องเป็นการตัดสินใจด้วยวิธี “สับสนศาสตร์” แน่นอน

โชคดีนะ คนไทย