ทางสายกลางสังคมไทย : มุมมองสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ.ปยุตโต

ทางสายกลางสังคมไทย : มุมมองสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ.ปยุตโต

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่พระเบญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่ “ทางสายกลาง” ที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงถึงการปฏิบัติที่ไม่พึงกระทำ หรือทางที่สุดโต่งที่ไม่ควรดำเนิน อันเป็นทางตัน

คือ การลุ่มหลงมัวเมาในกามสุข และอีกทางหนึ่งคือการทรมานตนให้ลำบากเดือดร้อนต่างๆ ได้ทรงเสนอแนวทางสายกลางในการดำเนินชีวิต ด้วยหลักอริยสัจ 4 อันเป็นแนวทางใหม่

โดยเริ่มจากปัญญามีความเห็นที่ถูกต้องก่อน แล้วปฏิบัติตามขั้นตอน เพื่อละหรือดับทุกข์ทั้งปวง แล้วลุถึงพระนิพพาน อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา

หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาจบลง อัญญาโกณฑัญญะ หนึ่งในพระเบญจวัคคีย์ เกิดดวงตาเห็นธรรมคือธรรมจักษุ นับเป็นอริยบุคคลท่านแรก และเป็นพระภิกษุสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา ทำให้พระพุทธศาสนามีองค์ประกอบครบถ้วนเป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

เมื่อมองสภาพสังคมไทยในปัจจุบันนี้ ก็จะพบที่สุดโต่งปัญหาของสังคมไทยอยู่รอบด้าน ทั้งปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองไทย โดยเฉพาะปัญหาทางด้านการเมืองนั้น มีความโดดเด่นอยู่ที่การแสดงออกมาเป็นความแตกแยก แตกต่างและขัดแย้งกัน จนกลายเป็นคู่หรือขั้วแห่งความขัดแย้งกัน 

จนน่าวิตกว่าสังคมไทยจะก้าวพ้นไปจากวิกฤตการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร และเมื่อไร เพราะปัญหาได้หยั่งรากลึกลงไปถึงขั้นความแตกแยกทางความคิด และได้แผ่ขยายออกไปในกลุ่มชนต่างๆ แล้ว

ในวันอาสาฬหบูชาที่ถือกันว่าเป็นวันพระสงฆ์นี้ จึงขอนำเสนอแนวคิดของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) พระมหาเถระ ผู้เป็นนักปราชญ์ร่วมสมัยที่ได้รับการยกย่องและยอมรับอย่างกว้างขวาง เพื่อเป็นการทบทวนทางเดินของสังคมไทย 

ผู้เขียนนำเสนอสาระสำคัญจากธรรมบรรยายเรื่อง “สลายความขัดแย้ง”

ประการที่หนึ่ง สังคมไทยต้องไม่เป็นทาสของความขัดแย้ง ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาที่ธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายมีความแตกต่างกัน ขัดกันบ้าง เข้ากันบ้าง แล้วทำให้เกิดความหลากหลายและความสมบูรณ์ 

แต่มนุษย์เป็นธรรมชาติส่วนพิเศษที่สามารถจัดสรรความเป็นไปต่างๆ ให้เป็นไปตามเจตนาของตนได้ มนุษย์เอาประโยชน์จากความขัดแย้งก็ได้ ปรับเปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นความประสานเสริมกันก็ได้ แม้แต่ความแตกต่าง แทนที่จะให้เป็นความขัดแย้ง มนุษย์ที่ฉลาดก็อาจทำให้กลายเป็นส่วนเติมเต็มของกันและกัน

ทั้งนี้ มนุษย์ต้องขัดแย้งเป็น จึงจะเกิดประโยชน์ เช่น แทนที่จะให้เป็นการกระทบกระทั่งระหว่างกันทางสังคมหรือแม้แต่การกระทบทางจิตใจ ก็ให้เป็นการมาช่วยกระทบทางปัญญา แล้วทำให้เกิดแง่คิด มุมมอง และเกิดสติปัญญาอะไรใหม่ๆ 

ความขัดแย้งต้องมาจากเจตนาที่ดี มีความมุ่งหมายเพื่อความก้าวหน้าดีงาม และเพื่อให้สังคมมีความร่มเย็นเป็นสุข ความขัดแย้งที่เป็นปัญหานั้น ก็คือ ความขัดแย้งที่เกิดจากเจตนาที่ไม่ดี ส่วนวิธีจัดการกับความขัดแย้งนั้น ต้องแสดงออกทั้งทางกายและวาจาด้วยเมตตา และมีกิริยาอาการที่เอื้อเฟื้อทั้งต่อคนนั้นและต่อสังคมทั้งหมด

ประการที่สอง สังคมไทยเป็นประชาธิปไตย ต้องพูดกันได้และต้องใฝ่รู้ความจริง นอกเหนือจากการที่บุคคลจะต้องเป็นบุคคลที่อยากได้ความจริง อยากได้ความรู้ เป็นนักศึกษารู้จักแสวงหาความรู้ และรู้จักแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแล้ว 

คนในสังคมประชาธิปไตยต้องเป็นคนที่พูดกันง่าย พูดกันรู้เรื่อง การแสดงความคิดเห็นจึงต้องมาพร้อมกับความพร้อมที่จะรับฟังคนอื่น และในการรับฟังคนอื่นนั้นก็จะได้เดินหน้าในการหาความรู้เพิ่มขึ้นด้วย นี้จึงเป็นพื้นฐานแห่งการพัฒนาหรือเป็นความก้าวหน้าในสังคมประชาธิปไตย

ประการสุดท้าย สังคมไทยต้องรักษาวัฒนธรรมเมตตา และพัฒนาวัฒนธรรมแสวงปัญญา เพราะประวัติศาสตร์อันยาวนานของสังคมไทยนั้น เป็นสังคมที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางวัตถุเป็นพื้นฐานมาแต่เดิม 

วิถีชีวิตของคนไทยจึงแสดงออกมาในลักษณะของความเป็นคนที่มีจิตใจที่ดีงาม โอบเอื้ออารีเกื้อกูล ตลอดจนนับถือเป็นพี่เป็นน้อง เป็นต้น ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแห่งเมตตา ตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมตะวันตก ที่แต่เดิมเป็นสังคมที่ขาดแคลน

มุ่งแสวงหาความมั่งคั่งและบุกฝ่าพรมแดนออกไป (Frontier) จนกลายเป็นการรุกรานปราบปราม (Conquest) และมุ่งหน้าแข่งขันกันในที่สุด (Competition) โดยอาศัยวัฒนธรรมแห่งการแสวงหาปัญญา

ปัจจุบัน วัฒนธรรมแบบเมตตาในสังคมไทยกำลังเสื่อมถอย ทุกวันนี้คนไทยจึงไม่ค่อยมีเมตตากัน ความเป็นมิตรและความรู้สึกฉันพี่น้องเลือนรางไป ความมีน้ำใจก็ลดน้อยลงไป กำลังจะเป็นสังคมแบบตัวใครตัวมัน

พร้อมกันนั้น สังคมไทยก็ไม่ได้พัฒนาวัฒนธรรมแห่งการแสวงปัญญาเหมือนสังคมตะวันตก แม้ว่าจะเดินตามแบบอย่างตะวันตกก็ตาม

สังคมไทยจึงเสียทั้งสองด้าน คือ วัฒนธรรมแห่งเมตตาก็รักษาไว้ไม่ได้ วัฒนธรรมแห่งการแสวงหาปัญญาก็พัฒนาขึ้นมาไม่เป็น

เจ้าประคุณสมเด็จ จึงได้เตือนสติของสังคมไทยเสมอมาว่า สังคมไทยจะก้าวพ้นจากวิกฤตการณ์ที่เผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้ และจะพัฒนาสังคมไทยให้ก้าวหน้าไปได้หรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับว่า คนไทยจะสามารถจัดสรรสังคมไทยด้วยปัญญา บนพื้นฐานแห่งเมตตาไมตรีได้มากน้อยเพียงใด 

ถ้าสังคมไทยสามารถรักษาวัฒนธรรมเมตตาไว้ได้ และก้าวหน้าไปด้วยวัฒนธรรมแห่งปัญญา ก็จะได้ชื่อว่า ดำเนินไปตามทางสายกลาง ที่จะนำพาไปสู่เป้าหมายสังคมแห่งความดีงาม สันติสุข และยั่งยืนต่อไป