ชป.12 เตรียมแผนจัดการน้ำช่วงภัยแล้งลุ่มเจ้าพระยา หลังน้ำต้นทุนมีน้อย

สำนักงานชลประทานที่ 12 เตรียมแผนจัดการน้ำช่วงภัยแล้งลุ่มเจ้าพระยา หลังน้ำต้นทุนมีน้อย ของดการทำนาปรังออกไปก่อน

วันนี้ (27 ก.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงจนส่งผลกระทบทำให้ในหลายพื้นที่ของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเริ่มประสบปัญหาภัยแล้ง เกษตรกรผู้ใช้น้ำต่างเกรงว่าผลผลิตทางการเกษตรจะได้รับความเสียหายเนื่องจากขาดน้ำ ประกอบกับในปัจจุบันสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยามีน้ำต้นทุนน้อย ซึ่งทางกรมชลประทานก็ได้มีแผนในการบริหารจัดการน้ำและเตรียมความพร้อมรับมือหากเกิดภัยแล้ง
 

โดยทางด้านนายวิชัย ผันประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 12 เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำของ 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยาปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันอยู่ที่ประมาณ 9,700 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยแบ่งเป็นน้ำใช้การประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาในฤดูฝน กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำประมาณ 5,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่จะจัดสรรน้ำเพื่อเสริมการเพราะปลูกในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบันได้มีการส่งน้ำช่วยเหลือแล้ว 4,100 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 75 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทางกรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้มีการระบายน้ำของ 4 เขื่อนหลักรวมกันประมาณ 40-50 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และนสำหรับในปัจจุบันสถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยา ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 328 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่บริเวณหน้าเขื่อนเจ้าพระยามีระดับน้ำอยู่ที่ 14.55 เมตร/รทก. และมีการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อรักษาระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็มอยู่ที่ 55 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อกจากนี้ยังได้มีการผันน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยารวมกันอยู่ที่ประมาณ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยามีจำกัด

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนทางสำนักงานชลประทานที่ 12 โดยกรมชลประทาน ได้มีการแผนการจัดสรรน้ำ โดยยึด 12 มาตรการหลัก รวมถึงกำชับหน่วยงานชลประทานในพื้นที่ แต่ในช่วงที่ผ่านมาปริมาณฝนตกในพื้นที่น้อยจึงไม่มีสถานการณ์น้ำหลาก นอกจากนี้ในช่วงของเดือน สิงหาคม กรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีการคาดการณ์ไว้ว่าจะมีพายุเข้า 1-2 ลูก ทางสำนักงานชลประทานที่ 12 ก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ถึงเกษตรกรผู้ใช้น้ำเตรียมรับน้ำฝนและน้ำท่าที่อาจจะเกิดขึ้นในบางพื้นที่ ทั้งนี้ทางสำนักงานชลประทานที่ 12 ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ โดยยังคงยึดหลักใน 12 มาตรการเตรียมรับมือ และยังได้มีการซ่อมแซมอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานก่อนฤดูน้ำหลาก รวมไปถึงการขุดลอกคูคลองต่างๆ การกำจัดวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำ และเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำเพื่อไว้ช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝนแต่การบริหารจัดการน้ำจะคล้ายๆ กับช่วงฤดูแล้งเนื่องจากที่ผ่านมาปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา โดยค่าเฉลี่ยทั้งประเทศน้อยกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ภาคกลางสูงถึง 44 เปอร์เซ็นต์ของค่าเฉลี่ยและมีฝนตกน้อยกว่า จึงทำให้การบริหารจัดการน้ำคล้ายกับช่วงฤดูแล้ง ในระดับพื้นที่ของสำนักงานชลประทานที่ 12 ก็ได้มีการจัดรอบเวรการใช้น้ำ และยังได้เน้นทำการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำให้ใช้น้ำกันอย่างประหยัด ทั้งนี้ ทางสำนักงานชลประทานที่ 12 ก็ได้รับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำของกรมชลประทานจำนวน 50 เครื่อง เพื่อมาทำการสูบน้ำบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร

สำหรับการคาดการณ์แนวโน้มข้างหน้าจะเห็นได้ว่าประเทศไทยเข้าสู่สภาวะปรากฏการณ์เอลนีโญ จึงทำให้มีประมาณฝนแล้งและฝนตกน้อยซึ่งจะมีความเกี่ยวเนื่องไปจนถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2567 ฉะนั้นการบริหารรวมไปถึงการใช้น้ำก็อยากจะขอความร่วมมือไปถึงเกษตรกรและผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนให้ใช้น้ำกันอย่างประหยัด และเกษตรกรที่กำลังจะทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตก็ขอให้งดการทำนาปรังออกไปก่อนหากไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนเป็นของตัวเองและมาใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลักก็อาจจะทำให้ได้รับผลกระทบกับเกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำการเก็บเกี่ยว นอกจากนี้ก็ขอให้ประชาชนนั้นติดตามข่าวสารการบริหารจัดการน้ำจากหน่วยงานราชการในพื้นที่ หรือทางกรมชลประทาน โทร.1460