"วันป่าชายเลนโลก 2566" ทส.เดินหน้าปลูกป่าเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต

"วันป่าชายเลนโลก 2566" ทส.เดินหน้าปลูกป่าเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต

ทส. จับมือกับชุมชนจังหวัดกระบี่ และภาคีพันธมิตร จัดงาน "วันป่าชายเลนโลก ประจำปี 2566" เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต มุ่งสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน

วันที่ 26 กรกฎาคม 2566 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับชุมชนจังหวัดกระบี่ และภาคีเครือข่ายพันธมิตร จัดกิจกรรมวันสากลเพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าชายเลน หรือ "วันป่าชายเลนโลก ประจำปี พ.ศ. 2566" ได้รับเกียรติจากนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธี โดยมีนายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยนายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวรายงาน พร้อมกันนี้ นายฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทสยามทีซี เทคโนโลยี จำกัด และนายนพรัตน์ ศรีพรหม นายอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ตลอดจนผู้บริหารในสังกัดกระทรวง ทส. ผู้แทนจากบริษัท สยามทีซี เทคโนโลยี จำกัด ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนสมาชิกป่าชายเลนสำหรับชุมชนในท้องที่จังหวัดพังงา ภูเก็ต ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล และกระบี่ อีกทั้งสถาบันการศึกษา และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมกิจกรรม จำนวนประมาณ 500 คน ณ พื้นที่แปลงปลูกป่าโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต บ้านต้นทัง หมู่ที่ 7 ต.คลองยาง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ 

\"วันป่าชายเลนโลก 2566\" ทส.เดินหน้าปลูกป่าเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต

     นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนมากเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ไม่เพียงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในฐานะแหล่งอาหาร ยา พลังงาน และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่  อีกทั้งยังเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากวิกฤตการณ์โลกร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าชายเลนทั้งทางตรงและทางอ้อม ประเทศไทยจึงเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยกระทรวงฯ ทส.ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะยกระดับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065 โดยเฉพาะการเดินหน้าส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตให้เป็นรูปธรรมผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์โลกร้อน พร้อมกับมอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จัดทำโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตสำหรับบุคคลภายนอกและสำหรับชุมชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาชนที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จ

\"วันป่าชายเลนโลก 2566\" ทส.เดินหน้าปลูกป่าเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่ทุกคนอยากเห็นคือ การเพิ่มขึ้นของพื้นที่ป่าชายเลน ตนเชื่อมั่นว่า การจัดกิจกรรมวันป่าชายเลนโลก ประจำปี 2566 โดยมีการร่วมกันปลูกป่าชายเลนในแปลงโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลนให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง ผ่านกระบวนการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามีส่วนร่วมในโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ตลอดจนเสริมสร้างพลังของพี่น้องประชาชน เพิ่มแรงผลักดันให้ทุกภาคส่วนหันมาใส่ใจในการสนับสนุนโครงการฯ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลนให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนต่อไป "นายจตุพร ปกท.ทส. กล่าวเน้นย้ำ"
   

\"วันป่าชายเลนโลก 2566\" ทส.เดินหน้าปลูกป่าเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต

 นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) กล่าวว่า นับตั้งแต่ พ.ศ. 2558 องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กำหนดให้วันที่ 26 กรกฎาคม ของทุกปีเป็น วันสากลเพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าชายเลน หรือ “วันป่าชายเลนโลก” โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาคมโลกได้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของระบบนิเวศป่าชายเลน และช่วยกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษาทรัพยากรป่าชายเลนให้คงความสมบูรณ์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลน ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการบูรณาการการทำงานแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้สอดรับกับถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร รวมถึงการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ที่มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดเตรียมการตามภารกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยกรม ทช. ได้จัดทำ “โครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต” ซึ่งป่าชายเลนเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ทั้งด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ รวมถึงเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต มีระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2565 – 2574 เนื้อที่ 300,000 ไร่ พร้อมได้ออกระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการปลูกและบำรุงป่าชายเลน สำหรับบุคคลภายนอกและชุมชน พ.ศ. 2565 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น/ชุมชน ในการยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังได้ดำเนินโครงการป่าชายเลนสำหรับชุมชน ซึ่งขณะนี้มีชุมชนที่ขึ้นทะเบียนป่าชายเลนสำหรับชุมชนแล้ว จำนวน 58 ชุมชน เนื้อที่ 94,031.23 ไร่ โดยมีองค์กรผู้ร่วมพัฒนาที่เข้าร่วมโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต สำหรับบุคคลภายนอกแล้ว จำนวน 14 องค์กร เนื้อที่ 41,031.04 ไร่ และสำหรับโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต สำหรับชุมชน ได้อนุมัติให้ชุมชนเข้าร่วมโครงการฯ ร่วมกับบริษัทแล้ว จำนวน 54 ชุมชน รวมเนื้อที่ 90,629.41 ไร่ 
     สำหรับปีนี้ กรม ทช. ดำเนินการจัดกิจกรรมวันสากลเพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าชายเลน หรือ "วันป่าชายเลนโลก ประจำปี พ.ศ. 2566" ณ บริเวณ พื้นที่แปลงปลูกป่าโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต บ้านต้นทัง หมู่ที่ 7 ต.คลองยาง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ และมีการจัดกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเลอีกหลายแห่งพร้อมกัน สำหรับการจัดกิจกรรมที่จังหวัดกระบี่ในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายพันธมิตร อย่างบริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด ผู้ร่วมพัฒนาโครงการฯ ที่มีเป้าหมายและอุดมการณ์เหมือนกัน ที่เล็งเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของป่าชายเลน รวมถึงเสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับพี่น้องประชาชนและชุมชนชายฝั่งในด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลน เพื่อเกิดการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนได้อย่างสมดุลและยั่งยืน นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการจัดนิทรรศการของหน่วยงานภาครัฐ และภาคีเครือข่าย เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรป่าชายเลน โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ตลอดจนการมอบหนังสืออนุมัติโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต สำหรับชุมชน แก่ผู้แทนชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 39 ชุมชน และมอบเงินสนับสนุนการดำเนินงานโครงการดังกล่าว แก่ผู้แทนชุมชนทั้ง 39 ชุมชน จากบริษัท สยามทีซี เทคโนโลยี จำกัด พร้อมร่วมกันปลูกป่าชายเลนในพื้นที่บ้านต้นทัง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ในโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต เนื้อที่ 71.26 ไร่ อีกด้วย "นายอภิชัย รรท.อทช. กล่าวทิ้งท้าย"