ข่าวปลอม อย่าแชร์! กฎใหม่เงินบำนาญสมาชิกรัฐสภารับสูงสุด 79,492 บาท

ข่าวปลอม อย่าแชร์! กฎใหม่เงินบำนาญสมาชิกรัฐสภารับสูงสุด 79,492 บาท

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ตรวจสอบกรณีที่มีการระบุว่า กฎใหม่เงินบำนาญสมาชิกรัฐสภารับสูงสุด 79,492 บาท เป็นข้อมูลเท็จ

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย Anti-Fake News Center Thailand ระบุว่า ตามที่มีการแชร์ข้อมูลเรื่องกฎใหม่เงินบำนาญสมาชิกรัฐสภารับสูงสุด 79,492 บาท ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยสำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลเท็จ

กรณีมีภาพข้อมูลถูกเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ว่า “ข้าราชการผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา” ต้องมีอายุราชการนาน 25 ปี ถึงมีสิทธิ์ได้รับบำนาญ แต่ ส.ส. รวมกันออกกฎหมายให้สิทธิ์ ส.ส. ให้ได้รับเงินบำนาญ ตามระยะเวลาการเป็น ส.ส. ดังนี้ 2 ปีรับบำนาญ 22,712 บาท, 3 ปีรับบำนาญ 34,068 บาท, 7 ปี รับบำนาญ 45,424 บาท, 11 ปี รับบำนาญ 58,280 บาท, 15 ปี รับบำนาญ 64,136 บาท, 20 ปี รับบำนาญ 79,492 บาท ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลเงินบำนาญข้าราชการ ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงว่า สิทธิประโยชน์ในการรับเงินทุนเลี้ยงชีพของผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภานั้น เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยการบริหารค่าใช้จ่าย
 

ในการดำเนินงานการรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงินการจัดหาผลประโยชน์ และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 โดยระเบียบดังกล่าว กำหนดการรับเงินทุนเลี้ยงชีพของผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา กำหนดให้ได้รับเป็นรายเดือนตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยไม่ได้รับตลอดชีพ แต่ให้ได้รับเป็นระยะเวลา 2 เท่าของเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือประชาชนให้งดแชร์หรือส่งต่อข้อมูลที่เป็นเท็จไปในช่องทางสื่อโซเชียลต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.web.parliament.go.th หรือ โทร. Call Center 1743 และ 02-242-5900
 

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ตามที่มีบุคคลโพสต์ และแชร์ข้อมูลที่เป็นเท็จเกี่ยวกับบำนาญผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภานั้น ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง กล่าวคือสิทธิประโยชน์ในการรับเงินทุนเลี้ยงชีพของผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภานั้น เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา