กอนช. ถอดบทเรียนน้ำท่วม จ.เพชรบุรี รับมือฝนปี 66 ย้ำแจ้งเตือนรวดเร็ว-แม่นยำ

กอนช. ถอดบทเรียนน้ำท่วม จ.เพชรบุรี รับมือฝนปี 66 ย้ำแจ้งเตือนรวดเร็ว-แม่นยำ

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ซ้อมตั้งศูนย์ส่วนหน้าฯ ภาคตะวันตก พร้อมรับมือฤดูฝนปี 66 เตรียมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัยอย่างมีเอกภาพ ย้ำการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำสู่ภาคประชาชนให้เข้าถึง รวดเร็วและแม่นยำ

วันนี้ (12 ก.ค. 66) นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์  รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้า และสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชน ณ โรงแรม อีโค่ โคซี่ บีชฟรอนต์ รีสอร์ต อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตินิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หริอ สสน. กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมประชาสัมพันธ์ และหน่วยทหาร เข้าร่วมการฝึกในครั้งนี้

รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า การจัดโครงการในวันนี้ ส่วนหนึ่งจะเป็นการถอดบทเรียนจากการเกิดสถานการณ์อุทกภัยในปี 2565 ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายพื้นที่ ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ก็ได้มีการบูรณาการหน่วยงานเพื่อร่วมบริหารจัดการน้ำ และจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าภาคกลาง ที่จังหวัดชัยนาท ศูนย์ส่วนหน้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดอุบลราชธานี ศูนย์ส่วนหน้าภาคใต้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างดี จนทำให้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จึงนำมาสู่การขยายผลทำให้เกิดเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการรับมือฤดูฝนในปีนี้ด้วย ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 ไปเรียบร้อยแล้ว

กอนช. ถอดบทเรียนน้ำท่วม จ.เพชรบุรี รับมือฝนปี 66 ย้ำแจ้งเตือนรวดเร็ว-แม่นยำ

การจัดกิจกรรมครั้งนี้จะเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานในมาตรการที่ 8 ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ (ตลอดช่วงฤดูฝน) และมาตรการที่ 10 การเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ระหว่างภาครัฐกับประชาชนในพื้นที่ โดย สทนช. ได้ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าร่วมการฝึกเตรียมความพร้อม ด้านบุคลากร ทรัพยากร สถานที่ สิ่งอำนวยสะดวกต่างๆ สำหรับรับมือสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนนี้ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจนเห็นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อร่วมซักซ้อมการปฏิบัติตามมาตรการให้สามารถติดตาม ประเมิน บริหารจัดการ และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ รวมถึงแจ้งเตือน และให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบอย่างมีความเป็นเอกภาพ ทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งจะเกิดประโยชน์ร่วมกันในการปฏิบัติงาน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เกิดทักษะ และประสบการณ์ในการปฏิบัติงานของหน่วยงานเครือข่ายด้วย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติที่มีความห่วงใยประชาชนในช่วงฤดูฝนปี 2566 ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 อย่างเคร่งครัด

กอนช. ถอดบทเรียนน้ำท่วม จ.เพชรบุรี รับมือฝนปี 66 ย้ำแจ้งเตือนรวดเร็ว-แม่นยำ

สำหรับรูปแบบการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัยในครั้งนี้ เป็นการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ (Table Top Exercise : TTX) จำลองสถานการณ์เกิดอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี มีขั้นตอนการฝึกประกอบด้วยการจำลองการจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย และใช้กลไกการปฏิบัติตามโครงสร้างของศูนย์ส่วนหน้า รวมทั้งการเตรียมความพร้อมทั้งเครื่องจักรเครื่องมือแผนเผชิญเหตุ โดยแบ่งการทำงานเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ส่วนอำนวยการ ส่วนปฏิบัติการ ส่วนสนับสนุน และส่วนประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้ การฝึกซ้อมตามโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการฝึกซ้อมแล้ว 2 ครั้งในพื้นที่ภาคเหนือที่ จ.เชียงราย และครั้งที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น และจะดำเนินการต่อเนื่องอีก 3 ครั้ง ได้แก่ จ.ยะลา จ.ลพบุรี และ จ.ปราจีนบุรี ในช่วงระหว่างเดือน ก.ค. – ส.ค.นี้ 

กอนช. ถอดบทเรียนน้ำท่วม จ.เพชรบุรี รับมือฝนปี 66 ย้ำแจ้งเตือนรวดเร็ว-แม่นยำ

"สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันตก ซึ่งมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่จำนวน 4 แห่ง ปัจจุบันมีปริมาตรน้ำรวม 16,775 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 เทียบกับระดับเก็บกัก หรือมีปริมาตรน้ำใช้การ 3,415 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 24 เทียบกับความจุใช้การ ภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งนี้ในพื้นที่ซักซ้อมฯ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญ คือ อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 206 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 29 เทียบกับระดับเก็บกัก ซึ่งยังถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ สำหรับการประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยปี 2566 นี้ พบว่า ในภาคตะวันตกมีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย และน้ำท่วมฉับพลัน ในเดือนสิงหาคม จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี (อำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอไทรโยค และอำเภอเลาขวัญ) และประจวบคีรีขันธ์ (อำเภอกุยบุรี) เดือนกันยายน จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี (อำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอบ่อพลอย อำเภอด่านมะขามเตี้ย และอำเภอเลาขวัญ) และราชบุรี (อำเภอเมืองราชบุรี และอำเภอปากท่อ) และเดือนตุลาคม จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี (10 อำเภอ) กาญจนบุรี (12 อำเภอ) สมุทรสงคราม (3 อำเภอ) เพชรบุรี (2 อำเภอ) และ ประจวบคีรีขันธ์ (3 อำเภอ)" นายบุญสม กล่าว