'พลายศักดิ์สุรินทร์' กลับบ้านปลอดภัย เล็งเปิดให้ประชาชนเข้าชม

'พลายศักดิ์สุรินทร์' กลับบ้านปลอดภัย เล็งเปิดให้ประชาชนเข้าชม

“วราวุธ” ขอบคุณทุกหน่วยงานที่พาช้าง “พลายศักดิ์สุรินทร์” กลับบ้านอย่างปลอดภัย ขอรักษาก่อน ยังไม่ขอพูดเรื่องส่งกลับ เล็งเปิดให้ประชาชนเข้าชมพลายศักดิ์สุรินทร์

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2566 เครื่องบินแบบ Ilyushin IL-76 (อิลยูชิน อิล-76) ซึ่งบินจากสนามบินกรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา นำช้าง “พลายศักดิ์สุรินทร์” มาถึงยังท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มารอต้อนรับที่อาคารคลังสินค้า ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ โดยทันทีที่ “พลายศักดิ์สุรินทร์” มาถึง ประชาชนที่มารอต้อนรับเห็นภาพจากจอที่เจ้าหน้าที่นำมาตั้งไว้ให้ชม ต่างส่งเสียงเฮด้วยความดีใจที่ “พลายศักดิ์สุรินทร์” มาถึงบ้านเกิดอย่างปลอดภัย บางคนถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่

\'พลายศักดิ์สุรินทร์\' กลับบ้านปลอดภัย เล็งเปิดให้ประชาชนเข้าชม

นายวราวุธ เปิดเผยว่า จากการตรวจสุขภาพเบื้องต้นโดยทีมสัตวแพทย์ พบว่า พลายศักดิ์สุรินทร์ มีความพร้อมสมบูรณ์ในการเดินทางไปยังสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ จ.ลำปาง โดยขบวนมีตำรวจนำทาง 2 คัน และปิดท้ายอีก 1 คัน เพื่อหลีกเลี่ยงรถติดและเดินทางไปได้อย่างราบรื่น คาดว่าใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ถึงที่หมาย

\'พลายศักดิ์สุรินทร์\' กลับบ้านปลอดภัย เล็งเปิดให้ประชาชนเข้าชม
 

ทั้งนี้ เกือบ 2 ชั่วโมงที่เครื่องลงจอดที่สนามบินเชียงใหม่ เพื่อตรวจสุขภาพ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ต้องพักกินหยวกกล้วยและน้ำ โดยเจ้าหน้าที่ต้องเปิดประตูตู้ เพื่อฉีดน้ำคลายความร้อนและให้ดื่มน้ำก่อน รวมถึงนำน้ำแข็งก้อนไปไว้ในกรง ช่วยให้อากาศภายในกรงเย็นขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศร้อนอบอ้าว ก่อนที่ในเวลา 16.09 น. จะออกเดินทางจากสนามบินเชียงใหม่ ไปยังสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ จ.ลำปาง โดยมีประชาชนทุกเพศทุกวัยมารอต้อนรับ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ที่สนามบินเป็นจำนวนมาก

\'พลายศักดิ์สุรินทร์\' กลับบ้านปลอดภัย เล็งเปิดให้ประชาชนเข้าชม

นายวราวุธ แถลงภายหลัง “พลายศักดิ์สุรินทร์” ออกจากท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ ว่า ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้การช่วยเหลือ ซึ่งพลายศักดิ์สุรินทร์เหมือนรู้ดีว่าได้กลับมาประเทศไทย ให้ความร่วมมืออย่างดีตั้งแต่อยู่ศรีลังกา โดยสถาบันคชบาลฯ จ.ลำปาง จะต้องกักตรวจโรคเป็นเวลา 1 เดือน ก่อนเริ่มทำการรักษา เบื้องต้นได้รับการประเมินและรักษาแค่ภายนอก ยังไม่ทราบดีว่าภายในของช้างพลายศักดิ์สุรินทร์มีความผิดปกติอย่างไรบ้าง

ส่วนจะมีการส่งพลายศักดิ์สุรินทร์กลับศรีลังกาหรือไม่ หลังจากรักษาหาย นายวราวุธ บอกว่า เป็นเรื่องที่เร็วเกินไปที่จะพูดตอนนี้ ขอยังไม่พูดถึง ตอนนี้สำคัญคือรักษาพลายศักดิ์สุรินทร์ให้หายก่อน เพราะวันนี้ยังไม่รู้ว่าพลายศักดิ์สุรินทร์มีอาการอย่างไรบ้าง เห็นแค่อาการบาดเจ็บจากภายนอก ยังบอกไม่ได้ถึงภายใน

\'พลายศักดิ์สุรินทร์\' กลับบ้านปลอดภัย เล็งเปิดให้ประชาชนเข้าชม
 

นายวราวุธ กล่าวขอบคุณควาญช้างทั้ง 4 คน ควาญช้างจากศรีลังกา และทีมสัตวแพทย์ทั้ง 2 คนที่อยู่บนเครื่อง ที่ดูแลพลายศักดิ์สุรินทร์เป็นอย่างดี โดยกัปตันได้รายงานว่า ไม่มีเหตุการณ์อะไรที่น่าวิตกกังวล พอลงจากเครื่อง พลายศักดิ์สุรินทร์มีอาการหิวน้ำ จึงกินน้ำเข้าไปจำนวนมาก มีการฉีดน้ำเข้าไปในกรง เพื่อให้อุณหภูมิลดลง ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่อยากกินน้ำ กินน้ำได้ปริมาณมาก

ส่วนที่มีแฟนคลับพลายศักดิ์สุรินทร์จำนวนมากในขณะนี้ อนาคตจะเปิดให้เข้าชมด้วยหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า คาดว่าเป็นไปได้ แต่จะเข้าไปชมในลักษณะใด คงต้องหารือกับเจ้าหน้าที่ก่อน แต่ยอมรับว่า พลายศักดิ์สุรินทร์เป็นที่สนใจของประชาชน ต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้าไปชื่นชมและให้กำลังใจด้วย


เมื่อถามถึงอาการของช้างอีก 2 เชือกที่ยังอยู่ศรีลังกา นายวราวุธ กล่าวว่า ทั้ง  2 เชือกนั้น จากการประสานงาน และ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษา ทส.ได้ไปดู รวมถึงจากรายงานที่เข้ามา ยังวางใจได้ว่ายังมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีอาการบาดเจ็บใด แต่เพื่อความไม่ประมาท ขอแจ้งว่า ถ้าประชาชนคนใดมีข้อมูล หรือมีประเด็นใดเป็นห่วง ขอให้แจ้งมายัง ทส. จะขอให้กระทรวงการต่างประเทศตรวจสอบต่อไป

เมื่อถามว่า มีการพยายามปกปิดที่อยู่และอาการของช้างที่เหลืออีก 2 เชือกนั้น นายวราวุธ บอกว่า คงเป็นเรื่องที่ต้องสอบถามไปยังศรีลังกา ส่วนงบประมาณที่ใช้ในการขนส่งครั้งนี้ อยู่ที่ประมาณ 19 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นค่าขนส่ง เพราะเป็นเครื่องบินพาณิชย์ที่คาดว่าน่าจะใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว ดังนั้นจึงใช้เงินและใช้เวลาพอสมควร

เมื่อถามว่า จะมีการส่งช้างไปเป็นทูตสันถวไมตรีให้กับประเทศต่างๆ อีกหรือไม่ นายวราวุธ ยืนยันว่า จะไม่มีส่งไปไหนอีกต่อไปแล้ว

\'พลายศักดิ์สุรินทร์\' กลับบ้านปลอดภัย เล็งเปิดให้ประชาชนเข้าชม

สำหรับประวัติของ “พลายศักดิ์สุรินทร์” รัฐบาลไทยส่งมอบให้ประเทศศรีลังกา เพื่อเป็นทูตสันถวไมตรี เมื่อปี 2544 พร้อมกับ “พลายศรีณรงค์” ตามที่ศรีลังการ้องขอ เพื่อนำไปฝึกใช้ในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในงานแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีของศรีลังกา ที่มีการจัดอย่างต่อเนื่องมากว่า 270 ปี โดย “พลายศักดิ์สุรินทร์” นับเป็นช้างเชือกที่ 3 ที่ไทยส่งให้ศรีลังกาไปเป็นทูตสันถวไมตรี ต่อจาก “พลายประตูผา” ที่เป็นเชือกแรก เมื่อปี 2523

ทั้งนี้ “พลายศักดิ์สุรินทร์” เป็นช้างที่มีคชลักษณ์โดดเด่นตรงตามความต้องการของศรีลังกา เพื่อใช้ในงานแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว ซึ่งหลังจากถูกส่งไปอยู่ศรีลังกา รัฐบาลศรีลังกาได้โอนกรรมสิทธิ์ช้างเชือกนี้ให้กับ “วัดคันเดวิหาร” (Kande Vihara) เป็นผู้รับช่วงดูแลต่อ เพื่อให้ทำหน้าที่ในขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุในงานแห่พระธาตุประจำปีของศรีลังกา ซึ่งมีเฉลี่ย 30 ครั้ง/ปี โดยต่อมาปี 2565 มีการร้องเรียนและตรวจสอบพบว่า “พลายศักดิ์สุรินทร์” ถูกใช้งานอย่างหนัก และมีสภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่ รวมทั้งจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน จึงนำไปสู่กระบวนการให้ความช่วยเหลือและนำตัวกลับมารักษาที่ประเทศไทยในที่สุด

ด้านสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ (ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย) จ.ลำปาง แจ้งผ่านเพจว่า ขอความร่วมมือประชาชนและสื่อมวลชนทุกท่านที่ต้องการเดินทางมาต้อนรับ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ซึ่งเดินทางมาจากประเทศศรีลังกา ในวันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม 2566 ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากหลายหน่วยงาน รวมทั้งสัตวแพทย์และควาญช้าง เพื่อให้ช้างได้พักผ่อนภายหลังจากการเดินทาง และได้ใช้เวลาเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ ตลอดจนมีโอกาสได้สร้างความคุ้นเคยกับควาญช้างไทย ภาษาไทย และได้ปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมที่จากไปนานนับสิบปี จึงขอความร่วมมือมายังประชาชนและสื่อมวลชนทุกท่านที่ห่วงใยช้าง และติดตามการเดินทางของ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ได้ที่อาคารกัลยาณิวัฒนาการุณย์ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ (ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย) อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง โดยได้ติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อให้ติดตามผ่านช่องทางดังกล่าว

“พลายศักดิ์สุรินทร์” จะใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เฝ้าระวัง และสังเกตอาการเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน ภายใต้ระเบียบการควบคุมโรคระบาดสัตว์ กรมปศุสัตว์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อบางชนิด ในการนี้ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ ได้จัดให้มีการไลฟ์ผ่านทางแฟนเพจ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง The Thai Elephant Conservation Center Lampang และจัดทำคลิปวิดีโอ เพื่อนำเสนอเรื่องราวการดูแลรักษาพลายศักดิ์สุรินทร์ ตลอดระยะเวลา 30 วันนี้ และเมื่อผ่านพ้นช่วงเวลานี้ที่พลายศักดิ์สุรินทร์จะได้พักผ่อนทำความคุ้นเคยกับที่อยู่ใหม่ ตลอดจนได้รับการดูแลรักษาจนมีสุขภาพแข็งแรงดีแล้ว จึงจะเชิญชวนคนรักช้างทุกท่านได้เข้าเยี่ยมพลายศักดิ์สุรินทร์ ตามประกาศอีกครั้ง

\'พลายศักดิ์สุรินทร์\' กลับบ้านปลอดภัย เล็งเปิดให้ประชาชนเข้าชม