รับมือเอลนีโญ! กรมชลประทาน ปรับการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ย้ำช่วยกันประหยัดน้ำ

รับมือเอลนีโญ! กรมชลประทาน ปรับการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ย้ำช่วยกันประหยัดน้ำ

กรมชลประทาน ติดตามสถานการณ์น้ำ ปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา พร้อมกับติดตามสถานการณ์ความเค็มอย่างใกล้ชิดไม่ให้เกินเกณฑ์เฝ้าระวังที่สถานีควบคุม เพื่อเป็นการประหยัดน้ำต้นทุนและกักเก็บน้ำไว้ใช้ให้ได้มากที่สุด ย้ำช่วยกันประหยัดน้ำ รับมือเอลนีโญ

เมื่อวันที่ 26 มถุนายน 2566 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป 

รับมือเอลนีโญ! กรมชลประทาน ปรับการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ย้ำช่วยกันประหยัดน้ำ
 

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (26 มิ.ย.66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 38,877 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การ 14,937 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 29 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 37,460 ล้าน ลบ.ม. สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยาสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,636 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การ 3,940 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 22 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 14,235 ล้าน ลบ.ม. สำหรับสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้และไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์ ในที่ประชุมจึงมีมติพิจารณาปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา พร้อมกับติดตามสถานการณ์ความเค็มอย่างใกล้ชิดไม่ให้เกินเกณฑ์เฝ้าระวังที่สถานีควบคุม เพื่อเป็นการประหยัดน้ำต้นทุนและกักเก็บน้ำไว้ใช้ให้ได้มากที่สุด 

จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ปรากฎการณ์เอลนีโญอาจจะส่งผลให้ทั้งประเทศไทยเกิดฝนตกน้อยกว่าค่าปกติยาวนานจนถึงปีหน้า จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่บริหารจัดการน้ำในระบบด้วยความประณีตและมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 อย่างเคร่งครัด พร้อมกับดำเนินการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำในแม่น้ำลำคลองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง