ข้อคิดจาก 'เด็กรอดตาย' ในป่าดงดิบ 40 วัน

ข้อคิดจาก 'เด็กรอดตาย' ในป่าดงดิบ 40 วัน

อีกไม่นานคงมีการสร้างภาพยนตร์สะท้อนความมหัศจรรย์ซ้อนเกี่ยวกับการรอดตายในป่าดงดิบ 40 วันของเด็ก 4 คน ในแนวเดียวกับภาพยนตร์สะท้อนนักฟุตบอลเยาวชน 13 คนที่รอดตายจากการติดอยู่ในถ้ำน้ำท่วมทางตอนเหนือของเมืองไทย

ความมหัศจรรย์แรกได้แก่ พี่น้อง 4 คนอายุระหว่าง 1 ถึง 13 ปีไม่บาดเจ็บมาก จากอุบัติเหตุเครื่องบินเล็กตกกลางป่าอะเมซอนทางตอนใต้ของประเทศโคลอมเบีย เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ส่วนผู้ใหญ่ในเครื่องบิน 3 คนเสียชีวิต รวมทั้งแม่ของเด็กและนักบิน

ป่าอะเมซอนเป็นป่าดงดิบร้อนชื้นมาก จากฝนที่มักตกหนักและจากต้นไม้รกทึบจนแสงแดดส่องลงไปไม่ถึงพื้น ป่านั้นมีอันตรายมากไม่ว่าจะจากเสือจากัวร์ หรืองูเล็กใหญ่หลากหลายชนิดที่มีพิษและดุร้าย

คณะค้นหาซึ่งมีทั้งชาวพื้นเมืองดั้งเดิมที่คุ้นเคยกับป่าชนิดนั้น และทหารหน่วยรบพิเศษ ต้องใช้มีดถางป่าและฟันฝ่าพื้นที่ชื้นแฉะเป็นเวลาหลายสัปดาห์กว่าจะถึงจุดที่เครื่องบินตก

พวกเขาพบศพแต่ไม่พบเด็กที่ซากเครื่องบิน เวลาผ่านไปรวม 40 วันก่อนที่คณะค้นหาจะพบเด็กทั้ง 4 การที่เด็กสามารถเอาชีวิตรอดได้ในกลางป่าตลอดเวลา 40 วันนับเป็นความมหัศจรรย์ด้วย

เหตุการณ์ดังกล่าวมองได้จากหลากหลายแง่มุม เช่น ปัจจัยที่ทำให้แม่ผู้เป็นหญิงชาวพื้นเมืองดั้งเดิมของแถบนั้น และลูก 4 คนต้องออกจากหมู่บ้านชนบทห่างไกล ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางด้วยเรือและเท้ารวม 6 ชั่วโมงกว่าจะถึงถนน

นอกจากจะตกอยู่ในภาวะไร้การพัฒนายุคใหม่โดยสิ้นเชิงแล้ว ยังถูกคุกคามจากความป่าเถื่อนของผู้กว้างขวางในท้องถิ่นอีกด้วย จุดหมายปลายทางของพวกเขาได้แก่เมืองหลวงซึ่งสามีของหญิงที่ตายได้ไปหางานทำอยู่ก่อนแล้ว

โคลอมเบียเป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่มีทั้งความเหลื่อมล้ำและความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตสูงมาก เนื่องจากชนชั้นผู้นำมีความฉ้อฉลสูงจนเกิดการต่อต้านด้วยการจับอาวุธขึ้นสู้ของประชาชน ภาวะเช่นนี้ยังมีกระจัดกระจายอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก

พูดถึงความฉ้อฉล หากใช้ตัวเลขขององค์กรความโปร่งใสสากลเป็นตัวชี้วัด โคลอมเบียฉ้อฉลน้อยกว่าไทย เพราะได้คะแนน 39 จาก 100 นับเป็นลำดับที่ 91 ใน 180 ประเทศ ส่วนไทยได้ 36 จาก 100 นับเป็นลำดับที่ 101 โคลอมเบียโด่งดังเรื่องผลิตยาเสพติดโคเคน ส่วนเมืองไทยคงได้แก่การค้ายาบ้า

ปัจจัยหลักที่ทำให้เด็กรอดตายได้ถึง 40 วันได้แก่ ความคุ้นเคยกับภาวะไร้การพัฒนาในสายตาของชาวโลกโดยทั่วไปในยุคนี้ เด็กหญิงอายุ 13 ปีได้รับการฝึกให้มีความรับผิดชอบในการดูแลน้องๆ และเตรียมอาหารสำหรับผู้ใหญ่ซึ่งออกไปทำงานนอกบ้าน เด็กยังเรียนรู้เป็นอย่างดีว่าของป่ามีอะไรที่กินได้บ้างอีกด้วย

ชาวโลกโดยทั่วไปมักไม่ตระหนักว่าในกระบวนการที่เรียกกันว่าการพัฒนายุคใหม่ซึ่งเน้นการเพิ่มรายได้แบบไม่มีที่สิ้นสุดนั้น ความรู้อันสำคัญยิ่งนี้ค่อยๆ หายไป เนื่องจากแต่ละคนถูกฝึกให้มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางเพียงอย่างเดียว

 

จริงอยู่ กระบวนการนี้เอื้อให้สังคมผลิตสิ่งต่างๆ และสร้างรายได้เพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันมันทำให้ทุกคนมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการอาศัยผู้อื่นแบบแทบสัมบูรณ์ นั่นหมายความว่า ยิ่งพัฒนามากขึ้นเท่าไร ความเสี่ยงยิ่งเพิ่มขึ้นไปเป็นเงาตามตัว

กระบวนการพัฒนาของโลกปัจจุบัน ที่นับวันจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงดังกล่าวมักถูกมองข้าม แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงจึงเสนอให้การมีภูมิคุ้มกันจากความเสี่ยง เป็นหนึ่งในห้าของสิ่งที่ชาวโลกควรพิจารณาในกระบวนการพัฒนาของตน

ไม่ใช่การกลับไปใช้ชีวิตแบบยากจนตามแนวคนรุ่นเก่าจำพวกหาเช้ากินค่ำโดยทำเกษตรกรรมเท่านั้นอันเป็นการเข้าใจผิด หรือการจงใจทำให้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงด้อยค่า

การที่พูดกันว่าโลกยุคใหม่ไม่จำเป็นต้องรู้จักหุงข้าว หรือต้มไข่เมื่อขาดไฟฟ้าเพราะร้านสะดวกซื้อพร้อมทำให้ มิใช่การชี้ให้เห็นความสำเร็จแห่งยุคสมัย หรือพูดให้ขบขัน หากควรมองว่ามันเป็นภาวะที่จะทำให้คนยุคใหม่ตายอย่างเขียดที่หารูอยู่ไม่เป็น เมื่อภัยแห่งความแห้งแล้งมาเยือน.