ฝนทิ้งช่วง! ชป.12 ย้ำเกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด พร้อมเตรียมรับมือช่วงน้ำหลาก

ฝนทิ้งช่วง! ชลประทานที่ 12 ย้ำเกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อรักษาน้ำต้นทุน และเตรียมความพร้อมรับมือช่วงน้ำหลาก

เมื่อวันนี้ 15 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้มีการประกาศประเทศไทยจะเกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง ซึ่งทางสำนักงานชลประทานที่ 12 ได้มีการเผยสถานการณ์น้ำภาพรวมในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาในช่วงของฝนทิ้งช่วง ปัจจุบันน้ำจาก 4 เขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยายังมีปริมาณน้อย ย้ำกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และควรใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อรักษาน้ำต้นทุน

นายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 เปิดเผยว่า สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยามีพื้นที่ประมาณ 10.9 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ชลประทานประมาณ 10.3 ล้านไร่ ครอบคลุม 22 จังหวัดภาคกลาง โดยการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลัก ในช่วงต้นฤดูฝนปี 65/66 มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ที่ประมาณ 6,500 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 36 เปอร์เซ็นต์ของความจุทั้งหมด และปัจจุบันได้มีการใช้น้ำที่กักเก็บเอาไว้ไปแล้วกว่า 4,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าเป็นการใช้น้ำมากกว่าแผนที่วางเอาไว้ 

ฝนทิ้งช่วง! ชป.12 ย้ำเกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด พร้อมเตรียมรับมือช่วงน้ำหลาก

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเกิดฝนทิ้งช่วง และในพื้นที่ภาคกลางมีฝนตกต่ำกว่าเกณฑ์ เฉลี่ย 68 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีการคาดการณ์ว่าปริมาณฝนในปีนี้จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 22 เปอร์เซ็นต์ โดยภาพรวมจะเห็นได้ว่าทำให้เกิดสภาวะน้ำน้อยในปีนี้

ฝนทิ้งช่วง! ชป.12 ย้ำเกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด พร้อมเตรียมรับมือช่วงน้ำหลาก

ซึ่งจากสถานการณ์น้ำดังกล่าวจึงส่งผลทำให้สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 326 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีจึงมีผลทำให้ระดับน้ำที่บริเวณหน้าเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีระดับน้ำอยู่ที่ 14.68 เมตร/รทก.(ระดับน้ำทะเลปานกลาง) โดยทางสำนักงานชลประทานที่ 12 กรมชลประทาน ได้มีการบริหารจัดการน้ำผันน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประมาณ 127 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูก และยังได้มีการระบายน้ำลงสู่พื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็ม อยู่ที่ประมาณ 70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 

ประกอบกับสถานการณ์น้ำของเขื่อนใหญ่ในพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 12 ซึ่งมี 2 เขื่อน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำกระเสียว และอางเก็บน้ำทับเสลา มีปริมาณน้ำเก็บกักในปัจจุบันเพียง 24 เปอร์เซ็นต์ หากเทียบกับสถานการณ์เพาะปลูกในพื้นที่ ทางกรมชลประทานได้มีแผนในการเพาะปลูกประมาณ 2.1 ล้านไร่ ปัจจุบันมีเกษตรกรทำการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 1.3 ล้านไร่เศษ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงพอปริมาณน้ำต้นทุนมีน้อยประกอบกับฝนทิ้งช่วงจึงทำให้ทางกรมชลประทานต้องผันน้ำต้นทุนช่วยเหลือเกษตรกรเป็นจำนวนมากเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

ฝนทิ้งช่วง! ชป.12 ย้ำเกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด พร้อมเตรียมรับมือช่วงน้ำหลาก

ทั้งนี้จากการบริหารจัดการน้ำในช่วงของฝนทิ้งช่วง ทางสำนักงานชลประทานที่ 12 โดยกรมชลประทาน ก็ขอให้เกษตรกรหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดจากหน่วยงานราชการต่างๆในพื้นที่ รวมไปถึงการใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อประโยชน์สูงสุด สำหรับในช่วงฤดูฝนทางกรมชลประทานก็ได้มีการเตรียมความพร้อมตาม 12 มาตรการหลักในการบริหารจัดการน้ำในช่วงของฤดูน้ำหลาก ไม่ว่าจะเป็นการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ การเตรียมความพร้อมของบุคลากร เครื่องจักรกลต่างๆ หากเกิดสถานการณ์ในพื้นที่