สรุปประเด็นปัญหาการควบคุมการก่อสร้างอาคาร

สรุปประเด็นปัญหาการควบคุมการก่อสร้างอาคาร

การควบคุมการก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างมีความสำคัญอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เนื่องจากอาคารและสิ่งปลูกสร้างเหล่านั้นเป็นสถานที่เสริมสร้างความมั่นคง ความปลอดภัย ตลอดจนการมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ครอบครัว

กฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบันคือ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมซึ่งมีการแก้ไขจำนวน 4 ครั้ง กล่าวคือ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 เป็นฉบับสุดท้ายที่มีการแก้ไขและบังคับใช้ในปัจจุบัน

วัตถุประสงค์ในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายก็เพื่อให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารสามารถออกกฎกระทรวงกำหนดให้เรื่องที่เป็นรายละเอียดทางด้านเทคนิค เกี่ยวกับการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารประกาศกำหนดได้ เพื่อใช้เป็นข้อปฏิบัติในการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร

ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามมาตรฐานสากลซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามพัฒนาการของเทคโนโลยีเกี่ยวกับการก่อสร้าง

นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมบทบัญญัติที่กำหนดให้เจ้าของอาคาร ผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดำเนินการสำหรับอาคารบางชนิดหรือประเภท ต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก

เพื่อให้บุคคลดังกล่าวได้รับการชดใช้ค่าเสียหายในเบื้องต้นในกรณีที่บุคคลนั้นได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินจากอาคารนั้น

ปรับปรุงกระบวนการเกี่ยวกับการแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ให้มีความเหมาะสมกับการพัฒนาบุคลากรและองค์กรวิชาชีพด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม

อันเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น และปรับปรุงบทบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการปรับปรุงบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น

สรุปประเด็นปัญหาการควบคุมการก่อสร้างอาคาร

แม้ว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาแล้วหลายครั้ง โดยมีการกำหนดนโยบายในการควบคุมอาคาร เพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้ามาควบคุมความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร

รวมถึงความปลอดภัย การสาธารณสุข การป้องกันทางอัคคีภัย การผังเมือง การสถาปัตยกรรม การรักษาคุณภาพและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเข้ามาอำนวยความสะดวกแก่การจราจร

แต่การแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวก็ยังไม่ได้สมบูรณ์ ไม่สามารถที่จะบังคับใช้ให้เป็นไปตามนโยบายในการควบคุมอาคารได้

ผู้เขียนจึงสรุปประเด็นปัญหาในทางกฎหมายที่น่าสนใจไว้ ดังนี้

ประการแรก การเข้าถึงและการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายควบคุมอาคารตามกฎหมายไม่ได้ถูกจัดเก็บ หรือเรียบเรียงไว้เป็นหมวดหมู่ให้เข้าใจง่าย หรือชัดเจนต่อการนำไปปฏิบัติ

หรือหากมีการจัดเก็บไว้แล้วก็ไม่ได้มีข้อมูลครบถ้วนเท่าที่ควร อีกทั้งแหล่งข้อมูลที่จะทำให้ประชาชนได้เข้าไปศึกษาหาข้อมูลนั้น ยังไม่กว้างพอและเข้าถึงได้ยาก

มาตรา 13 ทวิ (2) ได้มีการกำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่นจัดให้มีการทำเอกสารเผยแพร่หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและรวมถึงการขออนุญาตในการดำเนินการต่างๆ

ตลอดจนให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อห้าม ข้อจำกัด หรือแม้กระทั้งข้อมูลอื่นๆอันเกี่ยวกับการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ไว้คอยจำหน่ายหรือให้แก่ประชาชนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการที่จะให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคาร

สรุปประเด็นปัญหาการควบคุมการก่อสร้างอาคาร

ประการที่สอง การขออนุญาตหรือการแจ้งรื้อถอนอาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 22 จะต้องได้ทำการขออนุญาตหรือได้แจ้งต่อพนักงานท้องถิ่นก่อนทำการรื้อถอน

ซึ่งก็ได้แก่ อาคารที่มีส่วนสูงเกิน 15 เมตรและอยู่ห่างจากอาคารอื่นหรือที่สาธารณะน้อยกว่าความสูงของอาคาร และอาคารที่อยู่ห่างจากอาคารอื่นหรือที่สาธารณะน้อยกว่า 2 เมตร โดยไม่ต้องพิจารณาว่าตัวอาคารนั้นสูงเท่าใด

เมื่อพิจารณาถึงกฎหมายการรื้อถอนอาคารเป็นการรื้อส่วนอันเป็นโครงสร้างของอาคาร เช่น เสา คาน หรือส่วนอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

จะเห็นได้ว่า อาจจะมีโอกาสที่จะก่อความเสียหายให้แก่ประชาชนได้ แม้ว่าอาคารนั้นจักตั้งอยู่ห่างจากอาคารอื่นหรือที่สาธารณะมากกว่าที่กฎหมายกำหนดก็ตาม

ประการสุดท้าย ปัญหากลไกเกี่ยวกับการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย ในทางปฏิบัติการเข้าไปตรวจสอบว่ามีบุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคารนั้นทำได้อย่างจำกัดและไม่สามารถที่จะทำงานเชิงรุกได้

สืบเนื่องจากขาดแคลนบุคลากรหรือมีบุคลากรไม่เพียงพอต่อความต้องการที่จะเข้าไปทำหน้าที่ และเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการเข้าไปตรวจสอบว่า ได้มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารหรือไม่

ทั้งยังมีอำนาจในการเข้าสอบถามข้อเท็จจริงหรือสั่งให้แสดงเอกสารหรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องจากบุคคลที่อยู่หรือทำงานในสถานที่นั้น (มาตรา 53)

ซึ่งในความเป็นจริงนั้นการฝ่าฝืนกฎหมายการควบคุมอาคาร อาจจะเกิดขึ้นได้ในหลายพื้นที่แต่เมื่อไม่มีผู้เรียนหรือผู้ที่ถูกกระทบสิทธิโดยตรง เจ้าพนักงานท้องถิ่นเองก็ไม่ทราบถึงการกระทำที่ฝ่าฝืนนั้น

อาจเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต สังคม หรือทรัพย์สินของประชาชนได้ และอาจเป็นการยากต่อการเข้าไปแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

สรุปประเด็นปัญหาการควบคุมการก่อสร้างอาคาร

กล่าวโดยสรุป การควบคุมเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร ความปลอดภัยของผู้ใช้อาคาร     การป้องกันอัคคีภัยภายในอาคาร การจัดการด้านสาธารณสุข และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

การผังเมืองและการสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ผู้เขียนมีความเห็นสอดคล้องกับพิมุขและฟ้าใสว่าควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

เกี่ยวกับการรื้อถอนอาคาร การเคลื่อนย้ายอาคาร   การใช้อำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้มีความชัดเจนและเหมาะสมแก่การนำไปบังคับใช้

หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการในการสร้างความรับรู้หรือความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายควบคุมอาคารที่ชัดเจนและเข้าใจง่ายแก่ประชาชน รวมทั้งสร้างกลไกและทำงานเชิงรุกเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย

(ที่มานโยบายของรัฐในการควบคุมอาคาร: มุมมองด้านกฎหมาย, พิมุขและฟ้าใส)