ทช. เร่งขับเคลื่อนป่าชายเลนสำหรับชุมชน

ทช. เร่งขับเคลื่อนป่าชายเลนสำหรับชุมชน

ทช. เร่งขับเคลื่อนป่าชายเลนสำหรับชุมชน เพื่อร่วมโครงการป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตโดยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่น

นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงป่าชายเลน ซึ่งถือเป็นระบบนิเวศสำคัญระบบหนึ่ง ที่จะต้องปกป้อง ดูแลรักษา และฟื้นฟูให้มีความสมบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีผืนป่าชายเลนสมบูรณ์กว่า 1.73 ล้านไร่ ที่ควรได้รับการปกปักรักษาให้คงอยู่ และเร่งฟื้นฟูเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนให้มีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ ภายใต้การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน 

ทช. เร่งขับเคลื่อนป่าชายเลนสำหรับชุมชน

ตามนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อประโยชน์ในการสร้างรากฐานความมั่นคงด้านทรัพยากรธรรมชาติและด้านเศรษฐกิจควบคู่กันไป และเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2566  กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้จัดกิจกรรมวันป่าชายเลนแห่งชาติ ภายใต้คำขวัญ “ป่าชายเลนชุมชน คนดูแลป่า พัฒนาเศรษฐกิจ สร้างคาร์บอนเครดิต ลดวิกฤติโลกร้อน” เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของป่าชายเลนทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อเกิดประโยชน์แก่ทุกคนในชาติ โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน 

ทช. เร่งขับเคลื่อนป่าชายเลนสำหรับชุมชน

สำหรับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนชายฝั่งในพื้นที่ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล ออกระเบียบในการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ 2 ระเบียบ คือ ระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต ที่ได้จากการปลูกและบำรุงป่าชายเลน สำหรับบุคคลภายนอก พ.ศ. 2565 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการของปี พ.ศ.2565  จำนวน 14 ราย 41,031 ไร่ และระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต ที่ได้จากการปลูกและบำรุงป่าชายเลน สำหรับชุมชน พ.ศ. 2565 ที่ขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 16 ชุมชน 29,253 ไร่ และที่อยู่ระหว่างขึ้นทะเบียนกับกรม ทช.จำนวน 22 ชุมชน เนื้อที่  33,957  ไร่   ทั้งนี้ แม้ว่าที่ผ่านมา

 

ทช. เร่งขับเคลื่อนป่าชายเลนสำหรับชุมชน

กรม ทช. ได้ระดมทรัพยากรและเร่งดำเนินการอย่างเต็มความสามารถมาโดยตลอด แต่เมื่อพิจารณาถึงหลักการของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะต้องอาศัยความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม ดังนั้น เครือข่ายพันธมิตรจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลนในชุมชน เพื่อคืนความสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ และเป็นแหล่งสร้างรายได้ สร้างอาชีพชุมชนให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืนเช่นนี้

ทช. เร่งขับเคลื่อนป่าชายเลนสำหรับชุมชน

ดังนั้นเพื่อเป็นการขับเคลื่อนป่าชายเลนสำหรับชุมชนที่ขึ้นทะเบียนกับกรมทช. ได้เข้าร่วมโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตให้เกิดประสิทธิภาพและบรรลุตามเป้าหมายโครงการ กรมทช. ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เข้ามาสนับสนุนเป็นผู้ร่วมพัฒนาโครงการกับชุมชน โครงการฯดังกล่าว ซึ่งขณะนี้มีบริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด ได้ยื่นความจำนง เข้าร่วมสนับสนุนชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลนสำหรับชุมชน เพื่อเข้าโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต กับกรม ทช. แล้วจำนวน 14  ชุมชน เนื้อที่  29,253 ไร่ โดยในเบื้องต้นได้สนับสนุนงบประมาณให้กับชุมชนได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการฯ บางส่วนเรียบร้อยแล้ว นายอภิชัยฯ กล่าวทิ้งท้าย

ทช. เร่งขับเคลื่อนป่าชายเลนสำหรับชุมชน

ด้าน คุณมัทณา วิเชียรแก้วมณี กรรมการบริหารบริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลนในประเทศไทยให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ผ่านการมีส่วนร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และประชาชนชาวจังหวัดกระบี่ และจังหวัดพังงา โดยบริษัทฯ ได้มอบเงินสนับสนุนชุมชนในการร่วมพัฒนาโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตฯ ชุมชนละ 200,000 บาท จำนวน 14 ชุมชน นอกจากนี้บริษัท ยังจะได้สนับสนุนเงินให้ แก่ชุมชนในการร่วมดูแล รักษา และฟื้นฟู ป่าชายเลน ต่อเนื่อง 30 ปี อย่างไรก็ตาม บริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด ยังคงมุ่งมั่นและพร้อมขยายการสนับสนุนสู่ชุมชนอื่นๆ เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู บริการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนให้ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านการดำเนินงานในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนชุมชน รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพลิกฟื้นผืนป่าชายเลนให้อุดมสมบูรณ์ตลอดไป