ประกาศ 'กรมอุตุนิยมวิทยา' ฉบับที่ 9 เหนือ-กลาง-ใต้ ฝนตกหนัก จาก 'พายุฤดูร้อน'

ประกาศ 'กรมอุตุนิยมวิทยา' ฉบับที่ 9 เหนือ-กลาง-ใต้ ฝนตกหนัก จาก 'พายุฤดูร้อน'

ประกาศ "กรมอุตุนิยมวิทยา" ฉบับที่ 9 เตือน ภาคเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ ระวังฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง อิทธิพลจาก "พายุฤดูร้อน"

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนยังคงแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายฝนตกหนักที่จะเกิดขึ้น ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย 

อนึ่ง หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่าวเบงกอลตอนล่าง ได้ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศบังคลาเทศและเมียนมาในช่วงวันที่ 14-15 พ.ค. 66 ส่งผลให้ลมใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ในช่วงวันที่ 11-14 พ.ค. 66 ประเทศไทยจะมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 11-16 พ.ค. 66
 

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ประกาศ ณ วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เวลา 13.00 น.
กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับนี้เป็นประกาศฉบับสุดท้ายของเหตุการณ์นี้

ประกาศ \'กรมอุตุนิยมวิทยา\' ฉบับที่ 9 เหนือ-กลาง-ใต้ ฝนตกหนัก จาก \'พายุฤดูร้อน\'