กยท. เริ่มแล้วใช้ระบบ Thai Rubber Trade ประเดิมตลาดกลางยางเชียงรายแห่งแรก

กยท. เริ่มแล้วใช้ระบบ Thai Rubber Trade ประเดิมตลาดกลางยางเชียงรายแห่งแรก

การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. เริ่มแล้ว ยกระดับตลาดยางพาราสู่ Digital Platform จัดกิจกรรม Go live ระบบ Thai Rubber Trade ประเดิมครั้งแรกที่ตลาดกลางยางพาราเชียงราย มุ่งสร้างความเข้าใจ นำไปสร้างโอกาสทางการตลาด ก่อนขยายต่อที่ระยอง, บุรีรัมย์ และหนองคาย ภายใน พ.ค.นี้

วันที่ 3 พ.ค.66 เวลา 10.00 น. การยางแห่งประเทศไทย ( กยท.) และสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย ได้จัดกิจกรรม Go live ระบบ Thai Rubber Trade ครั้งที่ 1 ภายใต้โครงการพัฒนาตลาดยางพาราให้เป็น Digital Platform (Thai Rubber Trade) ขึ้น โดยได้เชิญสมาชิกตลาดเครือข่าย สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบการที่ทำการซื้อขายผ่านระบบ มาร่วมประชุมเพื่อรับทราบนโยบายการพัฒนาตลาดยางพาราให้เป็น Digital Platform พร้อมทำความเข้าใจระบบ ณ ห้องประชุมสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย

กยท. เริ่มแล้วใช้ระบบ Thai Rubber Trade ประเดิมตลาดกลางยางเชียงรายแห่งแรก

นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาตลาดยางพาราให้เป็น Digital Platform ผ่านระบบ Thai Rubber Trade โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาระบบการซื้อขายประมูลยางพาราให้สามารถ เชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักงานตลาดกลางยางพาราของ กยท. ทุกแห่งทั่วประเทศ สามารถคัดกรองคุณภาพยางพาราที่เข้ามาขายกับตลาดกลางยางพาราของ กยท. ก่อนส่งมอบแก่ลูกค้า 


“ระบบดังกล่าว มีการพัฒนาระบบผ่าน Mobile Platform และ Web Application นำมาใช้ลดระยะเวลาในการทำธุรกรรม และบริหารจัดการข้อมูลการซื้อขายยาง ทั้งหมดแบบ Real Time ประกอบด้วยสินค้ายางแต่ละชนิดและแหล่งรวบรวมยาง ซึ่งผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อยางตามความต้องการได้จากทุกตลาดทั่วประเทศ ทั้งตลาดกลางยางพาราทั้ง 8 แห่ง และตลาดเครือข่ายกว่า 200 ตลาด โดยระบบนี้ได้นำเทคโนโลยี Block chain มาใช้ในการทำธุรกรรมเพื่อเพิ่มความโปร่งใส แม่นยำ มีความน่าเชื่อถือในการตรวจสอบ และมีระบบตรวจสอบการโอนเงิน ลดความเสี่ยงในการปลอมแปลงบัญชี สามารถทำสัญญาต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ด้วย Smart Contract”นางสาวอธิวีณ์ กล่าว

ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กยท. ได้เริ่ม Go live นำระบบ Thai Rubber Trade มาใช้ครั้งแรกในการซื้อขายยางของสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย และมีแผนนำระบบไปใช้กับตลาดกลางยางพารา กยท. อีก 3 แห่ง ได้แก่ จังหวัดระยอง, บุรีรัมย์  และหนองคาย ภายในเดือนพฤษภาคม และครบทั้ง 8 ตลาดทั่วประเทศภายในปีงบประมาณ 2566

 
 “ระบบ Thai Rubber Trade เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบตลาดยางพาราของ กยท. ที่ช่วยสร้างราคาที่เป็นธรรม สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยาง อีกทั้งเพิ่มโอกาสขยายช่องทางการตลาดให้เกษตรกรชาวสวนยางได้มากขึ้น สามารถรองรับการตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลแหล่งที่มาของผลผลิตยางพาราได้ ตามกฎระเบียบของ EU ที่เรียกว่า EUDR ( EU Deforestation-free Regulation) ที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ยางที่แปรรูปจากผลผลิตที่ตรวจสอบได้ว่า มาจากพื้นที่ปลอดการตัดไม้ทำลายป่า และไม่รุกล้ำป่าสงวน เนื่องจากการซื้อขายยางผ่านระบบตลาดกลางของ กยท. จะต้องลงทะเบียนสมาชิกทั้งผู้ซื้อและผู้ขายยาง กยท. สามารถเชื่อมโยงทะเบียนสมาชิกผู้ขายกับทะเบียนเกษตรกร ทำให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังพื้นที่สวนยางที่เป็นแหล่งผลิตได้”นางสาวอธิวีณ์ กล่าวในที่สุด