เตือน 50 จว.เหนือ - อีสาน - กลาง และ กทม. เตรียมรับมือ 'พายุฤดูร้อน' 26-29 มี.ค.66

เตือน 50 จว.เหนือ - อีสาน - กลาง และ กทม. เตรียมรับมือ 'พายุฤดูร้อน' 26-29 มี.ค.66

ปภ. เตือน 50 จว.ภาคเหนือ - อีสาน - กลาง และ กทม. เตรียมรับมือ 'พายุฤดูร้อน' 26-29 มี.ค.66 พร้อมประสานหน่วยงานฯ สแตนด์บายพร้อมช่วยเหลือประชาชน

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาวะอากาศกับ 'กรมอุตุนิยมวิทยา' ซึ่งมีประกาศ ฉบับที่ 2 (81/2566) ลงวันที่ 25 มีนาคม 2566 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน

 

ในขณะที่ ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมี 'พายุฤดูร้อน' เกิดขึ้น โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตกและฟ้าผ่า ซึ่งเริ่มมีผลกระทบในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงภาคเหนือ จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป

 

 

โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง ระหว่างวันที่ 26 - 29 มีนาคม 2566 ดังนี้

 

ภาคเหนือ ได้แก่ น่าน , อุตรดิตถ์ , พิษณุโลก , พิจิตร , เพชรบูรณ์ , นครสวรรค์ และอุทัยธานี

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เลย , หนองคาย , บึงกาฬ , หนองบัวลำภู , อุดรธานี , สกลนคร , นครพนม , ชัยภูมิ , ขอนแก่น , กาฬสินธุ์ , มุกดาหาร , มหาสารคาม , ร้อยเอ็ด , ยโสธร , อำนาจเจริญ , นครราชสีมา , บุรีรัมย์ , สุรินทร์ , ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

 

ภาคกลาง ได้แก่ ชัยนาท , สิงห์บุรี , อ่างทอง , ลพบุรี , สระบุรี , สุพรรณบุรี , พระนครศรีอยุธยา , กาญจนบุรี , ราชบุรี , นนทบุรี , ปทุมธานี , นครปฐม , สมุทรปราการ , สมุทรสาคร , สมุทรสงคราม , นครนายก , ปราจีนบุรี , สระแก้ว , ฉะเชิงเทรา , ชลบุรี , ระยอง , จันทบุรี และตราด

 

 

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) จึงได้ประสาน 50 จังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือ 'พายุฤดูร้อน' ที่อาจเกิดขึ้น โดยโดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง และจัดทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนได้ทันที

 

ทั้งนี้ ให้จังหวัดติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้รที่เสี่ยงภัยติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง

 

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยขอให้ติดตามสภาพอากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น ขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งก่อสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง แข็งแรง อีกทั้งงดใช้เครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนเกษตรกรควรป้องกันผลิตผลทางการเกษตรที่อาจได้รับความเสียหายจากลมกระโชกแรง

 

ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชั่น 'THAI DISASTER ALERT' รวมถึงแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ 'ปภ.รับแจ้งเหตุ1784' โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 (ตลอด 24 ชั่วโมง) เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป

 

เตือน 50 จว.เหนือ - อีสาน - กลาง และ กทม. เตรียมรับมือ \'พายุฤดูร้อน\' 26-29 มี.ค.66