ไทยเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก H5N1 หลังพบผู้ติดเชื้อเสียชีวิตในประเทศเพื่อนบ้าน

ไทยเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก H5N1 หลังพบผู้ติดเชื้อเสียชีวิตในประเทศเพื่อนบ้าน

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ตรวจสอบกรณีที่มีการระบุว่า ไทยเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก H5N1 หลังพบผู้ป่วยเด็กติดเชื้อเสียชีวิตในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นข้อมูลจริง

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2566 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย Anti-Fake News Center Thailand ระบุว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องไทยเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก H5N1 หลังพบผู้ป่วยเด็กติดเชื้อเสียชีวิตในประเทศเพื่อนบ้าน ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง

ไทยมีการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก H5N1 โดยห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีความพร้อมตรวจตัวอย่างยืนยันผู้ติดเชื้อ โดยเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ ๆ นอกเหนือจากสายพันธุ์ A(H5N1) ได้อุบัติขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง หลายชนิดแพร่จากสัตว์ปีกมาสู่คน และบางชนิดก่อให้เกิดโรครุนแรง เช่น A(H5N2), A(H5N6), A(H5N8), A(H7N2), A(H7N3), A(H7N7), A(H7N9, A(H9N2), A(HION7) และ A(H 10N8) เป็นต้น การระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์ต่าง ๆ ในสัตว์ปีกยังพบอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา รัสเซียและหลายประเทศในยุโรป พบไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรง (Highly Pathogenic Avian Infuenza; HPAI) สายพันธุ์ A(H5Nx) clade 2.34.4b ระบาดรุนแรงทั้งในฟาร์มสัตว์ปีก และนกป่า
 

 

นอกจากนี้ มีรายงานพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ A(H5N1) ในประเทศสเปน 2 ราย จีน 1 ราย เวียดนาม 1 รายและผู้ติดเชื้อไข้หวัดนก A(H5N6) , A(H9N2) อย่างละ 1 ราย ในประเทศจีน สำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนก A(H5N1) จำนวนทั้งสิ้น 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย รายสุดท้ายพบในปี พ.ศ. 2549

 

 

อย่างไรก็ตาม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายดำเนินการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกทางห้องปฏิบัติการอย่างเป็นระบบมาเป็นระยะเวลานานต่อเนื่องนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 จากสถานการณ์การระบาดที่ยังพบมีรายงานเป็นครั้งคราวและการรายงานพบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากเชื้อไข้หวัดนก A(H5N 1) ในประเทศกัมพูชา กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการ เพื่อสนับสนุนการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนกโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถติดตามได้ที่ เว็บไซต์ หรือโทร. 02 9510000

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข